คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7616/2560

แม้ฟ้องของโจทก์จะไม่บรรยายระบุว่าได้ทำการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด แต่โจทก์อาจได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายในกรณีที่ยังไม่ได้มีการโฆษณางานได้เมื่อโจทก์มีสัญชาติไทยและเป็นผู้สร้างสรรค์งานภาพถ่ายนั้นเอง โจทก์ก็ย่อมได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวทันทีที่สร้างสรรค์งานเสร็จแม้จะยังมิได้โฆษณางานนั้น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 (1) ซึ่งลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายนั้น มีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 21 เมื่อขณะฟ้องโจทก์มีอายุเพียง 25 ปี แม้จะฟังว่าโจทก์ได้สร้างสรรค์งานนั้นตั้งแต่เกิด งานภาพถ่ายของโจทก์ก็ยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครอง จึงถือได้ว่าฟ้องของโจทก์ได้แสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นและยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์จึงไม่ขาดองค์ประกอบของความผิดในข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายของโจทก์
เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องรวมกันมาในข้อเดียวว่า จำเลยกระทำโดยเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยการทำซ้ำหรือดัดแปลงด้วยการคัดลอกงานภาพถ่ายของโจทก์ อีกทั้งจำเลยยังเจตนาทำให้โจทก์เสียหายด้วยการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมข้อมูลคอมพิวเตอร์บางส่วนของโจทก์โดยมิชอบ จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่แสดงให้เห็นว่าเจตนาของจำเลยในการกระทำความผิดทั้งสองเป็นเจตนาเดียวกันอันถือเป็นการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ขาดองค์ประกอบของความผิดและพิพากษายกฟ้องความผิดส่วนดังกล่าวไป ก็ยังต้องวินิจฉัยต่อไปด้วยว่าฟ้องโจทก์ในส่วนของความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 มีมูลให้ประทับรับฟ้องไว้พิจารณาต่อไปหรือไม่ด้วย การที่ศาลดังกล่าวออกจากสารบบความจึงไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 35
พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 บัญญัติว่า "ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุก..." แต่ที่โจทก์บรรยายฟ้องมาเพียงทำนองว่า จำเลยได้คัดลอกข้อมูลคอมพิวเตอร์ของโจทก์จากเว็บไซต์ของโจทก์ไปไว้ในเว็บไซต์ของจำเลยเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมข้อมูลคอมพิวเตอร์ของโจทก์อย่างไร แม้จะฟังข้อเท็จจริงได้ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาดังกล่าว ก็ไม่อาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 ได้ ฟ้องโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่ไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหาดังกล่าวได้

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27, 31, 69 และ 70 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เมื่อปรากฏว่าได้พิพากษายกฟ้องในความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แล้ว ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ให้จำหน่ายคดีสำหรับความผิดฐานดังกล่าว โดยให้โจทก์ไปยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ยังศาลที่มีอำนาจพิจารณาต่อไป
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องของโจทก์ในส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) ขาดองค์ประกอบของความผิดหรือไม่ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์มีสัญชาติไทยอายุ 25 ปี เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่าย โดยเป็นผู้สร้างสรรค์และได้นำภาพถ่ายดังกล่าวลงโฆษณาขายสินค้าทางคอมพิวเตอร์ในเว็บไซต์ "www.425degree.com" แม้ฟ้องของโจทก์จะไม่บรรยายระบุว่าได้ทำการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด แต่โจทก์อาจได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายในกรณีที่ยังไม่ได้มีการโฆษณางานได้เมื่อโจทก์มีสัญชาติไทยและเป็นผู้สร้างสรรค์งานภาพถ่ายนั้นเองโจทก์ก็ย่อมได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวทันทีที่สร้างสรรค์งานเสร็จแม้จะยังมิได้โฆษณางานนั้น ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 (1) ซึ่งลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายนั้นมีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้นตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 21 เมื่อขณะฟ้องโจทก์มีอายุเพียง 25 ปี แม้จะฟังว่าโจทก์ได้สร้างสรรค์งานนั้นตั้งแต่โจทก์เกิด งานภาพถ่ายของโจทก์ก็ยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครอง 50 ปี นับแต่โจทก์ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น จึงถือได้ว่าฟ้องของโจทก์ได้แสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นและยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 21 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบที่จะไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์สำหรับความผิดฐานดังกล่าว ฟ้องของโจทก์ในส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) จึงไม่ขาดองค์ประกอบของความผิดในข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายของโจทก์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางงดไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์แล้ววินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ในส่วนความผิดดังกล่าวขาดองค์ประกอบของความผิดและพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
ส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 ประกอบมาตรา 31 นั้น ตามฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายให้ปรากฏว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยกระทำต่องานใดที่ได้ทำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) (2) (3) หรือ (4) แก่งานนั้นเพื่อหากำไร ฟ้องโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) เป็นฟ้องที่ไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 ประกอบมาตรา 31 ได้
อนึ่ง สำหรับที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า เมื่อปรากฏว่าศาลได้พิพากษายกฟ้องในความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) แล้ว ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและให้จำหน่ายคดีสำหรับความผิดดังกล่าวโดยให้โจทก์ไปยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ยังศาลที่มีอำนาจพิจารณาต่อไปนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 35 บัญญัติว่า "ในการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และบทใดบทหนึ่งอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศรับพิจารณาพิพากษาข้อหาความผิดบทอื่นไว้ด้วย" เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องรวมกันมาในข้อเดียวว่า จำเลยกระทำโดยเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยการทำซ้ำหรือดัดแปลงด้วยการคัดลอกงานภาพถ่ายของโจทก์ อีกทั้งจำเลยยังเจตนาทำให้โจทก์เสียหายด้วยการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมข้อมูลคอมพิวเตอร์บางส่วนของโจทก์โดยมิชอบ จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่แสดงให้เห็นว่าเจตนาของจำเลยในการกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์กับเจตนาของจำเลยในการกระทำความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของโจทก์เป็นเจตนาเดียวกันอันถือเป็นการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องรับพิจารณาพิพากษาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง วินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) เป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบของความผิดและพิพากษายกฟ้องความผิดส่วนดังกล่าวไป แต่ก็ยังต้องวินิจฉัยต่อไปด้วยว่า ฟ้องของโจทก์ในส่วนของความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 มีมูลให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไปหรือไม่ด้วย การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้วินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวแต่กลับมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับความผิดดังกล่าวออกจากสารบบความ จึงไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 35 การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 เป็นการที่ศาลดังกล่าวมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ให้จำหน่ายคดีสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 ดังกล่าวได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 มาตรา 12 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 (เดิม) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) อย่างไรก็ตาม โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 ว่า จำเลยได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงด้วยวิธีการคัดลอกงานภาพถ่ายและข้อความหรือในส่วนอันเป็นสาระสำคัญทางหน้าเว็บไซต์ของโจทก์ที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ไปลงหน้าเว็บไซต์หรือเฟสบุ๊กของจำเลยที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์เพื่อขายสินค้าประเภทเดียวกันกับสินค้าที่โจทก์ลงโฆษณาขายในเว็บไซต์ อีกทั้งจำเลยยังเจตนาทำให้โจทก์เสียหายด้วยการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมข้อมูลคอมพิวเตอร์บางส่วนของโจทก์โดยมิชอบ เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 บัญญัติว่า "ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" แต่ที่โจทก์บรรยายฟ้องมาดังกล่าวเป็นการบรรยายฟ้องเพียงทำนองว่า จำเลยได้คัดลอกข้อมูลคอมพิวเตอร์ของโจทก์จากเว็บไซต์ของโจทก์ไปไว้ในเว็บไซต์ของจำเลยเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมข้อมูลคอมพิวเตอร์ของโจทก์อย่างไร แม้จะฟังข้อเท็จจริงได้ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาดังกล่าว ก็ไม่อาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 ได้ ฟ้องโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) เป็นฟ้องที่ไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่สั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 ให้ยกฟ้องสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 9 และความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 ประกอบมาตรา 31 ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางทำการไต่สวนมูลฟ้องสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) แล้วมีคำสั่งตามรูปคดีต่อไป


 

 

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่