สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

กรณีลูกจ้างนำรถไปรถบุคคลอื่นนายจ้างและผู้ประกันภัยต้องรับผิดอย่างไร

 

 

 

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

 

ประมวลฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง

การที่ความผิดของลูกจ้างผู้ทำละเมิดต่อบุคคลอื่นนั้น จะต้องรับผิดต่อผู้เสียหายโดยตรง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ เนื่องส่วนใหญ่แล้วลูกจ้างจะมีฐานะทางการเงินที่ไม่ดี กฎหมายเกรงว่า ผู้เสียหายอาจจะไม่ได้การชดใช้เยียวยาตามความเสียหายที่แท้จริง จึงได้บัญญัติให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดต่อผู้เสียหาย ซึ่งเกิดจาการกระทำละเมิดในทางการที่จ้างนั้นด้วย นอกจากนั้น หากปรากฎว่า นายจ้างได้เอาประกันภัยไว้รับบริษัทรับประกันภัยแล้ว ผู้ประกันภัยต้องรับผิดต่อผู้เสียหายร่วมด้วย ดังนั้น ผู้ที่ต้องรับผิดต่อผู้มีเสียหายนั้นมี ลูกจ้า นายจ้างและ บริษัทรับประกันภัย
ดังนั้น ตัวอย่างต่อไปนี้
นาย ก เป็นลูกจ้างของนาย ข และนาย ข ได้ทำประกันภัยรถยนต์ชั้น ๑ ไว้กับ บริษัท เอประกันภัย จำกัด ต่อมา นาย ก ไปขัยรถยนต์ไปในทางการที่จ้าง ได้นำรถยนต์ไปเฉี่ยวชนกับนางสาว บี ทำให้นางสาว บี ได้แขนหัก ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลา ๑ เดือน จึงจะหายดี การกระทำของนาย ก จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อนางสาวบี เมื่อนาย ก ไปขับรถยนยต์ดังกล่าวในระหว่างทำงานให้แก่นาย ข นายข ในฐานะนายจ้างต้องร่วมกับนาย ก รับผิดต่อนางสาว บี และบริษัท เอประกันภัยจำกัด ก็ต้องรับผิดต่อนางสาวบี ในฐานะผู้ประกันภัย ดังนั้น บุคคลที่จะต้องรับผิดต่อนางสาว บี ทั้งหมด ๓ คนดังกล่าว และต้องรับผิดต่อนางสาวบีอย่างลูกหนี้ร่วมกัน

สำหรับจำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 2 ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยตามเงื่อนไขที่กำหนดในกรมธรรม์ประกันภัย ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ที่มีต่อโจทก์ จึงเป็นความรับผิดในหนี้จำนวนเดียวกันอันจะแบ่งกันชำระมิได้ ต้องร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 301 จำเลยที่ 4 ชำระเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามวงเงินในกรมธรรม์ประกันภัยแล้วส่วนหนึ่ง จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ ไม่ต้องรับผิด ในค่าเสียหายส่วนที่โจทก์ได้รับจากจำเลยที่ 4 ไปแล้วอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2416/2561
โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 4,481,486.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,400,123.60 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 4 ศาลชั้นต้นอนุญาตจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 4 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 2,037,632.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 สิงหาคม 2554) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับยกเว้น ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระต่อศาลในนามของโจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาแล้วว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส โจทก์เรียกร้องค่ารักษาพยาบาลเพียงส่วนต่างจากสิทธิการรักษาของบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ที่โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองเป็นเงิน 202,448.60 บาท เท่านั้น ค่ารักษาพยาบาลต่อเนื่องปรากฏตามหลักฐานเป็นเงิน 25,418.50 บาท ค่ารถแท็กซี่เดินทางไปกลับจากบ้านไปโรงพยาบาลที่ศาลชั้นต้นกำหนดครั้งละ 500 บาท เหมาะสมแล้ว จึงกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 20,500 บาท ค่าจ้างคนเฝ้าไข้ โจทก์ฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายเดือนละ 18,000 บาท เป็นเวลา 109 วัน เป็นเงิน 65,400 บาท ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ 100,000 บาท จึงเกินคำฟ้อง ศาลอุทธรณ์จึงเห็นสมควรกำหนดให้ 65,400 บาท ค่ารักษาพยาบาลต่อเนื่องอาการติดเชื้อที่ต้นขาด้านซ้ายที่ศาลชั้นต้นกำหนด 200,000 บาท ค่าใช้จ่ายสำหรับการผ่าตัดและกายภาพบำบัดในอนาคต 250,000 บาท ค่าขาดรายได้ในการประกอบการงานทั้งในเวลาปัจจุบันและอนาคต 358,333.33 บาท และค่าทนทุกข์ทรมานด้วยการผ่าตัด เสียบุคลิกภาพ หมดสิ้นอนาคตในการทำงาน 500,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นกำหนดมานั้นเหมาะสมแล้ว และพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทน 1,622,100.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2553 เวลาประมาณ 4 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสาร หมายเลขทะเบียน 31 - 5565 กรุงเทพมหานคร มีโจทก์นั่งโดยสารไปตามถนนสายเอเชียมุ่งหน้ากรุงเทพมหานคร เมื่อถึงที่เกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความประมาทจนรถเสียหลักพลิกตะแคงชนอัดกับแท่งปูนกันตกถนน ต่อมาประมาณ 30 นาที จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกสินค้า หมายเลขทะเบียน 96 - 9054 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 3 แล่นมาในช่องเดินรถขวาสุดมุ่งหน้ากรุงเทพมหานครด้วยความประมาทชนท้ายรถยนต์โดยสารที่โจทก์นั่งโดยสารมา เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาและศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสและอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และจำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายรับอันตรายสาหัส และรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำเลยที่ 4 ชำระเงิน 1,000,000 บาท ตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่โจทก์แล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 หลุดพ้นความรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 4 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ให้ความยินยอม เท่ากับโจทก์ยินยอมปลดหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วม ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงหลุดพ้นความรับผิดนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 บัญญัติถึงผลการถอนฟ้องว่า โจทก์อาจนำฟ้องมายื่นใหม่ได้ แสดงว่าการถอนฟ้องไม่ได้ทำให้หนี้ระงับ จึงไม่ใช่การปลดหนี้ อันเป็นเรื่องความระงับแห่งหนี้ ดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างมาในฎีกา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างคนต่างทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์สามารถแยกออกจากกันได้ซึ่งต่างคนต่างต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดที่ตนกระทำ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังวินิจฉัยแล้วว่าความเสียหายตามฟ้องเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 เท่านั้นมิได้เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 การที่โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 2 ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยตามเงื่อนไขที่กำหนดในกรมธรรม์ประกันภัย ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ที่มีต่อโจทก์จึงเป็นความรับผิดในหนี้จำนวนเดียวกันอันจะแบ่งกันชำระมิได้ ต้องร่วมกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 301 เมื่อจำเลยที่ 4 ชำระเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามวงเงินในกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว การที่โจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 4 ในความเสียหายดังกล่าวไปแล้วส่วนหนึ่ง จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ ไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายส่วนที่โจทก์ได้รับจากจำเลยที่ 4 ไปแล้วอีก ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประการนี้ฟังขึ้นบางส่วน

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์เพียงใด เห็นว่า แม้โจทก์จะมีใบเสร็จรับเงินค่าจ้างคนเฝ้าไข้มาแสดงเพียง 1 เดือน แต่เมื่อโจทก์นำสืบว่าตามระเบียบของโรงพยาบาลต้องมีคนเฝ้าไข้และโจทก์ต้องจ้างคนเฝ้าไข้ขณะนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลโดยจำเลยที่ 2

 

 

 

และที่ 3 ไม่นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักฟังได้ว่าโจทก์ต้องเสียค่าจ้างคนเฝ้าไข้รวมค่าอาหารเดือนละ 16,000 บาท ตามที่โจทก์นำสืบไม่ใช่เดือนละ 18,000 บาท ตามฟ้อง เมื่อคิดเฉลี่ยวันละ 533.33 บาท เป็นเวลา 109 วัน ตามฟ้องเป็นเงิน 58,132.97 บาท สำหรับค่ารักษาพยาบาลต่อเนื่องอาการติดเชื้อที่ต้นขาและค่าใช้จ่ายสำหรับการผ่าตัดและกายภาพบำบัดในอนาคต ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบว่าโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องและศาลไม่อาจกำหนดให้ได้นั้น เห็นว่า หลังจากโจทก์รักษาตัวที่โรงพยาบาลถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2553 และรักษาต่อเนื่องถึงวันที่ 25 มีนาคม 2559 โจทก์ไม่นำสืบว่า โจทก์ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเนื่องจากเกิดจากการติดเชื้อแต่อย่างใด จึงเห็นสมควรไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ แต่โจทก์นำสืบว่า เหล็กที่ดามอยู่ด้านหลังยังไม่ได้เอาออก จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่สืบพยาน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ในอนาคตโจทก์ต้องผ่าตัดเพื่อเอาเหล็กที่ดามอยู่ด้านหลังออก และอาจต้องทำกายภาพบำบัด โจทก์จึงต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดค่าใช้จ่ายสำหรับการผ่าตัดและกายภาพบำบัดในอนาคต 250,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว ส่วนค่าขาดรายได้ในการประกอบการงานทั้งในเวลาปัจจุบันและอนาคต และค่าทนทุกข์ทรมานด้วยการผ่าตัด เสียบุคลิกภาพ หมดสิ้นอนาคตในการทำงาน ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าโจทก์มีรายได้เดือนละ 50,000 บาท โจทก์เสียบุคลิกภาพตลอดไปและหมดอนาคตในการทำงาน และโจทก์อายุ 63 ปีแล้ว โจทก์จึงไม่มีรายได้และขาดรายได้ดังกล่าวจริงนั้น โจทก์นำสืบว่า โจทก์ประกอบธุรกิจส่วนตัว ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการรัฐสภา ปัจจุบันด้านหลังมีอาการแสบบริเวณปลายประสาทและเหล็กที่ดามอยู่ด้านหลังยังไม่ได้เอาออก ส่วนบริเวณหัวเข่ามีอาการเจ็บอยู่ตลอดเวลาทำให้โจทก์ไม่สามารถเดินได้ตามปกติ เดินได้อยู่เป็นเวลาไม่นานก็ต้องพัก ขาไม่สามารถงอได้ตามปกติ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่สืบพยานหักล้างรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ยังสามารถทำงานและมีรายได้ แต่หลังเกิดเหตุโจทก์ต้องทนทุกข์ทรมานจากการบาดเจ็บ ไม่สามารถเดินได้เป็นปกติ มีอาการเจ็บหัวเข่าอยู่ตลอดเวลา และเสียบุคลิกภาพ โจทก์จึงเสียความสามารถประกอบการงานบางส่วนที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดค่าขาดรายได้ในการประกอบการงานทั้งในเวลาปัจจุบันและอนาคต 358,333.33 บาท และค่าทนทุกข์ทรมานด้วยการผ่าตัด เสียบุคลิกภาพหมดสิ้นอนาคตในการทำงาน 500,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 4 ชำระค่าเสียหายให้โจทก์แล้ว 1,000,000 บาท ซึ่งท่วมความเสียหายที่โจทก์ได้รับแล้ว เห็นว่า เมื่อโจทก์ได้รับชำระเงินค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 4 แล้ว 1,000,000 บาท จึงต้องหักเงินดังกล่าวออกจากจำนวนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาโดยมิได้หักเงินจำนวนดังกล่าวออกจากค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องชำระแก่โจทก์นั้น ไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประการนี้ฟังขึ้นบางส่วน ดังนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมกันชำระค่ารักษาพยาบาลในส่วนต่าง 202,448.60 บาท ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต่อเนื่อง 25,418.50 บาท ค่ารถแท็กซี่เดินทางไปกลับจากบ้านไปโรงพยาบาล 20,500 บาท ค่าจ้างคนเฝ้าไข้ 58,132.97 บาท ค่าใช้จ่ายสำหรับการผ่าตัดและกายภาพบำบัดในอนาคต 250,000 บาท ค่าขาดรายได้ในการประกอบการงานทั้งในเวลาปัจจุบันและอนาคต 358,333.33 บาท และค่าทนทุกข์ทรมานด้วยการผ่าตัด เสียบุคลิกภาพ หมดสิ้นอนาคตในการทำงาน 500,000 บาท หักค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 4 ชำระให้โจทก์แล้ว 1,000,000 บาท คงเหลือเงิน 414,833.40 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 414,833.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่