คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8749/2563

ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 กับพวกในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจด้วย ถือได้ว่าการกระทำความผิดตามฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในการกระทำผิดตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ.มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8749/2563

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 288, 295, 371

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณานายเจตริน ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น

โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นค่ารักษาพยาบาล 20,000 บาท ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการรักษาพยาบาล 50,000 บาท ค่าขาดรายได้ 108,000 บาท ค่าเสียหายทางจิตใจที่ต้องทนทุกข์ทรมาน 300,000 บาท และค่ารักษาในอนาคต 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 578,000 บาท แก่โจทก์ร่วม

จำเลยทั้งสามให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 และจำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละ 10 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 1,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 10 ปี และปรับ 1,000 บาท หากจำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 278,000 บาท แก่โจทก์ร่วม กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ร่วม โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 10 นาฬิกา โจทก์ร่วมและเด็กชายอาทิตย์ ไปเล่นน้ำสงกรานต์ที่หน้าห้างกับนายเอ็ม กับพวกประมาณ 30 คน มีจำเลยทั้งสามร่วมเล่นด้วย ระหว่างเล่นน้ำสงกรานต์กัน นายเอ็มชวนไปเล่นต่อที่บ้านนายเอ็ม ทั้งหมดจึงพากันขับรถจักรยานยนต์ไปที่บ้านนายเอ็ม แต่ระหว่างทางนายเอ็มซึ่งขับรถจักรยานยนต์นำหน้าได้กลับรถย้อนกลับไปทางเดิมโดยมีโจทก์ร่วมกับคนอื่น ๆ ทั้งหมดขับรถตามไป เมื่อถึงหน้าอู่ซ่อมรถ ที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 เรียกให้โจทก์ร่วมหยุดรถ แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกทำร้ายโจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น

คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ร่วมจดจำจำเลยที่ 1 ว่าเป็นคนร้ายที่ทำร้ายโจทก์ร่วมได้เพียงคนเดียวและไม่เบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 2 ทำร้ายโจทก์ร่วมด้วย แต่โจทก์และโจทก์ร่วมมีเด็กชายอาทิตย์ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุใกล้ชิดกับเหตุการณ์เป็นประจักษ์พยานเบิกความถึงพฤติการณ์ของจำเลยแต่ละคนไว้โดยละเอียด และยืนยันว่าจำเลยที่ 2 ทำร้ายโจทก์ร่วมโดยเตะโจทก์ร่วมขณะที่โจทก์ร่วมล้มลงนอนที่พื้น ซึ่งคำเบิกความของเด็กชายอาทิตย์สอดคล้องตรงกับที่เด็กชายอาทิตย์ให้การไว้ในชั้นสอบสวน ประกอบกับเหตุเกิดเวลากลางวัน เด็กชายอาทิตย์กับจำเลยที่ 2 ร่วมเล่นน้ำสงกรานต์กันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ขณะที่จำเลยที่ 2 รุมทำร้ายโจทก์ร่วมก็ได้ความจากเด็กชายอาทิตย์ว่าเป็นเวลานานถึง 10 นาที เด็กชายอาทิตย์แอบมองห่างที่เกิดเหตุเพียง 10 เมตร หลังเกิดเหตุเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุ เด็กชายอาทิตย์ก็แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าจำคนร้ายได้ เพียงแต่ไม่รู้จักชื่อเท่านั้น ทั้งต่อมาอีก 2 วัน เด็กชายอาทิตย์ก็ยังบอกโจทก์ร่วมอีกว่าจดจำคนร้ายได้ 2 ถึง 3 คน ในชั้นสอบสวนยังชี้ภาพถ่ายจำเลยที่ 2 ยืนยันว่าเป็นคนร้ายที่ทำร้ายโจทก์ร่วม ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความรับว่าได้ร่วมเล่นน้ำสงกรานต์และพบกับโจทก์ร่วมและเด็กชายอาทิตย์จริง เพียงแต่บ่ายเบี่ยงว่า จำเลยที่ 2 แยกตัวกลับบ้านไปก่อน จึงเชื่อว่าเด็กชายอาทิตย์จดจำจำเลยที่ 2 ได้ไม่ผิดตัว เด็กชายอาทิตย์ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 2 มาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ต้องระแวงว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 2 เชื่อว่า เด็กชายอาทิตย์เบิกความตามความเป็นจริง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่เตะทำร้ายโจทก์ร่วมด้วย เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีเหตุทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นระหว่างขับรถจักรยานยนต์ไปเล่นน้ำสงกรานต์ด้วยกัน จำเลยที่ 1 เรียกให้โจทก์ร่วมหยุดรถแล้วเข้าไปชกต่อยทำร้ายโจทก์ร่วมโดยไม่ปรากฏมีการคบคิดกับจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทันทีทันใด การที่จำเลยที่ 3 ใช้อาวุธมีดแทงโจทก์ร่วมจึงเป็นการกระทำของจำเลยที่ 3 เพียงลำพัง ทั้งทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นว่าจำเลยที่ 3 พาอาวุธมีดมาด้วย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้อาวุธมีดแทงโจทก์ร่วมโดยมีเจตนาฆ่า แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เพียงแต่เตะโจทก์ร่วมเท่านั้น ประกอบกับผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ไม่ปรากฏบาดแผลที่เกิดจากการถูกเตะ คงมีบาดแผลเฉพาะถูกแทง ทั้งทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ได้ความว่าโจทก์ร่วมได้รับอันตรายแก่กายจากการกระทำของจำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดเพียงฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 เท่านั้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ศาลสามารถลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ได้หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 กับพวกในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจด้วย ถือได้ว่าการกระทำความผิดตามฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในการกระทำผิดตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น

สำหรับคดีส่วนแพ่ง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เพียงแต่ใช้กำลังทำร้ายโจทก์ร่วมโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมและต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเฉพาะในผลอันเกิดจากการที่ได้ใช้กำลังทำร้ายโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 เท่านั้น หาจำต้องรับผิดในผลที่โจทก์ร่วมถูกแทงจนได้รับอันตรายแก่กายอันเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่นไม่ เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบการกระทำของจำเลยที่ 2 แล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้เป็นเงิน 3,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการรักษาพยาบาล ค่าขาดรายได้ ค่าเสียหายทางจิตใจที่ทนทุกข์ทรมานและค่ารักษาในอนาคตเป็นผลที่เกิดจากการที่โจทก์ร่วมถูกแทงไม่ใช่ผลโดยตรงที่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ แม้คดีส่วนแพ่งจำเลยที่ 2 มิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 จำคุก 1 เดือน และปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ข้อหาอื่นให้ยก ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 3,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่