ดอกเบี้ยจากราคาใช้แทนต้องคิดตั้งแต่วันไหน

ที่โจทก์ขอดอกเบี้ยจากราคาใช้แทนในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การที่ศาลวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถขุดที่เช่าซื้อคืน หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนนั้น เป็นกรณีที่หากจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถขุดดังกล่าวคืนแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพื่อราคาวัตถุอันไม่อาจส่งมอบได้เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกิดขึ้นระหว่างผิดนัด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในเงินจำนวนดังกล่าวได้ตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคานั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 225 แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคาอันหมายถึงเวลาที่ไม่สามารถส่งมอบรถขุดที่เช่าซื้อเกิดขึ้นเมื่อใด จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในราคาใช้แทนนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาอันเป็นวันที่ศาลกำหนดราคาใช้แทนให้ และราคาใช้แทนนี้เป็นหนี้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของราคาใช้แทน 400,000 บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8818/2563

 

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ส่งมอบรถขุดตีนตะขาบที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากส่งมอบคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 1,097,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาเสร็จแก่โจทก์ ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 593,167.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และค่าขาดประโยชน์เดือนละ 50,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาเสร็จแก่โจทก์ และร่วมกันชำระค่าเสียหายอีกเป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งให้โจทก์ชำระเงิน 157,191.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 และให้โจทก์จดทะเบียนโอนรถที่ให้เช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้งศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนรถขุดตีนตะขาบ ยี่ห้อแคทเทอร์พิลลาร์ รุ่น 320ดี ที่ให้เช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา คำขออื่นตามฟ้องแย้งนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งฟ้องเดิมและฟ้องแย้งให้เป็นพับโจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับโจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกาศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถขุดตีนตะขาบ ยี่ห้อแคทเทอร์พิลลาร์ รุ่น 320ดี จำนวน 1 คัน ไปจากโจทก์ ในราคา 4,705,405.61 บาท ชำระเงินดาวน์ 700,000 บาท ซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม คงเหลือค่าเช่าซื้อจำนวน 4,051,200 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อ 48 งวด งวดละ 84,400 บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 12 มิถุนายน 2555 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 12 ของทุกเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ หากผิดนัดชำระงวดหนึ่งงวดใด โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ทันที โดยมีจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์รวม 35 งวด โจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยทั้งสี่ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์อีก 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน 993,388 บาท และยังคงครอบครองใช้รถขุดที่เช่าซื้อตลอดมา คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า การบอกกล่าวเลิกสัญญาโดยที่โจทก์กำหนดระยะเวลาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวนั้น เป็นการบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาพอสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง ทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อเป็นรถขุดตีนตะขาบที่จำเลยที่ 1 ใช้ในการประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรถขุดตามสัญญา การที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงินค่าเช่าซื้อรถขุดที่ค้างชำระทั้งหมดดังกล่าวภายในกำหนดระยะเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว และให้ถือหนังสือฉบับนี้เป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อก็เป็นการเพียงพอแล้ว ถือได้ว่าการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของโจทก์ที่ให้ระยะเวลาชำระหนี้แก่จำเลยทั้งสี่ดังกล่าวเป็นการพอสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ไซร้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้” เมื่อจำเลยทั้งสี่มิได้ชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว กรณีจึงเป็นการเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสี่จะต้องร่วมกันคืนรถขุดที่เช่าซื้อและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ซึ่งปัญหานี้ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยเนื่องจากศาลล่างทั้งสองเห็นว่า สัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แต่เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีเป็นการเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและคู่ความสืบพยานมาจนเสร็จสิ้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยอีก เมื่อกรณีฟังได้แล้วว่าเป็นการเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบบรรดาเงินค่างวดค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระมาแล้ว โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิริบเสียทั้งสิ้น และจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถขุดที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ก็ต้องชดใช้ราคา แต่ที่โจทก์ขอให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 1,097,200 บาท นั้น เห็นว่า ราคาค่าเช่าซื้อเป็นราคารถที่แท้จริงรวมกับค่าเช่าตลอดระยะเวลาที่โจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 แบ่งชำระค่าเช่าซื้อ ลำพังราคารถขุดที่เช่าซื้ออย่างเดียวย่อมน้อยกว่านั้น ทั้งรถขุดที่เช่าซื้อ เป็นรถที่ใช้งานมานานกว่า 7 ปีแล้ว โดยสภาพย่อมเสื่อมราคาลงไปแม้ด้วยการใช้งานตามปกติ หากกำหนดราคารถใช้แทนให้โจทก์เท่ากับจำนวนค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ ย่อมมีผลเท่ากับโจทก์ได้รับค่าเช่าซื้อเต็มตามสัญญา โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถขุดที่เช่าซื้อ เนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว เมื่อคำนึงถึงราคารถที่แท้จริงขณะโจทก์นำออกให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อ ค่าเสื่อมราคารถ ประกอบราคารถที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์ไปแล้ว จำนวนราคาใช้แทนที่โจทก์ขอมานั้นเป็นราคาที่สูงเกินส่วน เห็นสมควรกำหนดให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 400,000 บาท ส่วนที่โจทก์ขอดอกเบี้ยจากราคาใช้แทนในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การที่ศาลวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถขุดที่เช่าซื้อคืน หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนนั้น เป็นกรณีที่หากจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถขุดดังกล่าวคืนแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพื่อราคาวัตถุอันไม่อาจส่งมอบได้เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกิดขึ้นระหว่างผิดนัด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในเงินจำนวนดังกล่าวได้ตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 225 แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคาอันหมายถึงเวลาที่ไม่สามารถส่งมอบรถขุดที่เช่าซื้อเกิดขึ้นเมื่อใด จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในราคาใช้แทนนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาอันเป็นวันที่ศาลกำหนดราคาใช้แทนให้ และราคาใช้แทนนี้เป็นหนี้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของราคาใช้แทน 400,000 บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับค่าเช่าซื้อที่ค้างก่อนสัญญาเช่าซื้อเลิกกันและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ทดรองจ่ายไปก่อนสัญญาเช่าซื้อเลิกกันจำนวน 47,264 บาท ที่โจทก์อ้างว่าได้นำไปหักกับเงินที่จำเลยที่ 1 นำมาชำระภายหลังที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วนั้น เห็นว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน คู่กรณีแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ดังนั้น โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อจึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างก่อนสัญญาเช่าซื้อเลิกกันได้ คงเรียกได้แต่ค่าที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อโดยไม่ชำระค่าเช่าซื้อเท่านั้นซึ่งไม่ก่อให้เกิดความรับผิดชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับงวดค่าเช่าซื้องวดที่ 36 เป็นต้นมา แม้โจทก์จะได้ออกเงินทดรองชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มแทนจำเลยที่ 1 ไปก่อน โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกเอาจากจำเลยที่ 1 ได้ แต่จำเลยที่ 1 ยังจะต้องชดใช้เงินเป็นค่าเสียหายแก่โจทก์ในการใช้รถขุดที่เช่าซื้อในระหว่างที่ตนยังไม่ส่งมอบรถขุดที่เช่าซื้อคืน และในกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองใช้ประโยชน์ในรถขุดที่เช่าซื้ออยู่หลังสัญญาเลิกกัน จำเลยที่ 1 ย่อมต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ให้เช่าซื้อตลอดเวลาจนกว่าจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถขุดที่เช่าซื้อคืนโจทก์หรือชดใช้ราคาแก่โจทก์ด้วย แต่ที่โจทก์เรียกร้องค่าขาดประโยชน์เดือนละ 50,000 บาท คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 700,000 บาท เห็นว่าสูงเกินส่วนเห็นสมควรกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้เดือนละ 30,000 บาท คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 14 เดือน รวมเป็นเงิน 420,000 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถขุดที่เช่าซื้อคืนโจทก์หรือใช้ราคาเสร็จ แต่ไม่เกิน 12 เดือนส่วนค่าติดตามทวงถามและบอกเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 18 เป็นเงิน 50,000 บาท นั้น เห็นว่า คงมีเพียงคำเบิกความลอย ๆ ของนายเทวฤทธิ์ ทนายโจทก์และผู้รับมอบอำนาจช่วงจากโจทก์ว่าเป็นเงิน 50,000 บาท โดยมิได้นำสืบข้อเท็จจริงให้ปรากฏ แต่เชื่อว่ามีค่าใช้จ่ายส่วนนี้อยู่จริงจึงเห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน 20,000 บาท เมื่อรวมกับค่าขาดประโยชน์ 420,000 บาท แล้วเป็นต้นเงิน 440,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวตามที่โจทก์ขอมา จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ในส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดอย่างเป็นลูกหนี้ร่วม เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2558 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2558 จึงพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลา 60 วัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง สำหรับหนี้การส่งมอบรถขุดที่เช่าซื้อและหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนถือเป็นหนี้ประธาน แม้โจทก์

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

มีหนังสือบอกกล่าวแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 เกิน 60 วัน นับแต่วันผิดนัด จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันย่อมไม่หลุดพ้น ส่วนหนี้ค่าขาดประโยชน์และค่าติดตามทวงถามถือเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดเฉพาะที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลา 60 วัน ดังนั้น จำเลยที่ 3 และที่ 4 ต้องร่วมรับผิดเฉพาะค่าขาดประโยชน์อันเป็นค่าเสียหายนับแต่วันผิดนัดแต่ไม่เกิน 60 วัน เป็นเงิน 60,000 บาท โดยไม่ต้องรับผิดดอกเบี้ยในราคาใช้แทนและค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์ขอมาตามฟ้องอนึ่ง สำหรับที่จำเลยทั้งสี่ฟ้องแย้งให้โจทก์จดทะเบียนโอนรถขุดที่เช่าซื้อและคืนเงินที่อ้างว่าชำระเกินจำนวน 157,191.10 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยทั้งสี่เป็นฝ่ายผิดสัญญา และสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วจำเลยทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้โจทก์จดทะเบียนโอนรถขุดที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 ตามฟ้องแย้งได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์อีก 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน 993,388 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสี่ให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วและชำระเกินไปจากสัญญาเช่าซื้ออีกจำนวน 157,191.10 บาท อันเป็นกรณีหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จึงเห็นสมควรนำเงินจำนวน 993,388 บาท ที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์ไว้มาหักทอนกับหนี้ค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าขาดประโยชน์และค่าติดตามทวงถามจำนวน 440,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับค่าขาดประโยชน์นับถัดจากวันฟ้องที่ศาลกำหนดให้ไม่เกิน 12 เดือน จำนวน 360,000 บาท หากมีเงินเหลือก็ให้โจทก์คืนให้แก่จำเลยที่ 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบรถขุดตีนตะขาบที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากส่งมอบคืนให้ไม่ได้ ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 400,000 บาท เฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้รับผิดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์และค่าติดตามทวงถามรวมเป็นเงิน 440,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ดังกล่าวอีกเดือนละ 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถขุดที่เช่าซื้อคืนโจทก์หรือใช้ราคาเสร็จแก่โจทก์ แต่ค่าเสียหายดังกล่าวต้องไม่เกิน 12 เดือน โดยให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 รับผิดเฉพาะค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 60,000 บาท และให้นำเงินจำนวน 993,388 บาท ที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์ไว้มาหักทอนกับหนี้ค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าขาดประโยชน์และค่าติดตามทวงถามจำนวน 440,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับค่าขาดประโยชน์นับถัดจากวันฟ้องจำนวน 360,000 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสี่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ดังกล่าว หากมีเงินเหลือบังคับตามฟ้องแย้งให้โจทก์คืนให้แก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในส่วนฟ้องเดิมและในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่