สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ตกลงยกทรัพย์ให้เพื่อยุติกรณีชู้สาวเป็นสินสมรสหรือไม่

เจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างกันได้ลงเอยอย่างไร ส่วนใหญ่แล้วปัญหาทางด้านครอบครัวมักเกิดจากเรื่องชู้สาว ซึ่งก่อให้เกิดความร้าวฉานเกิดในครอบครัว หากว่าสามารถเจรจาตกลงกันได้ เกิดวิวาทก็จบลง แต่หากไม่สามารถตกลงกันได้ ผลที่ตามมาก็คือแยกทางกัน ในบางกรณีสามารถตกลงกันได้ แต่อีกฝ่ายต้องได้รับการชดใช้เยียวยาความเสียหาย การเยียวยาความเสียหายอาจจะเป็นการยกที่ดินที่เป็นสินรสให้แก่ฝ่ายที่เสียหาย จึงมีประเด็นว่า ที่ดินที่ยกให้ยังเป็นสินสมรสระหว่างคู่สมรสหรือไม่
คำตอบที่ได้นั้น คือ ที่ดินดังกล่าวไม่เป็นสินสมรส เพราะถือว่า เป็นการยกให้โดยเสน่หา จึงเป็นสินส่วนตัวของอีกฝ่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14005/2558

ตามหนังสือสัญญาให้ที่ดินระบุว่า ผู้ให้ยอมยกที่ดินทั้งแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้รับโดยเด็ดขาดนับแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไป เป็นการยกให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนเพราะเป็นสามีภริยา แม้หนังสือดังกล่าวจะไม่ได้ระบุไว้ชัดว่าให้เป็นสินส่วนตัว แต่การที่โจทก์ยกที่ดิน 8 แปลง ดังกล่าวให้จำเลยก็เพื่อตอบแทนการที่จำเลยยอมยุติปัญหาที่โจทก์ไปมีภริยาอีกคนหนึ่ง จึงแปลเจตนาจากข้อความในเอกสารตามพฤติการณ์แห่งกรณีได้ว่า โจทก์ได้ให้เป็นสินส่วนตัวของภริยาเด็ดขาดแล้ว ประกอบกับพฤติการณ์ที่ภายหลังจำเลยและครอบครัวจำเลยได้ใช้ประโยชน์โดยอาศัยอยู่บนที่ดินดังกล่าวเรื่อยมาและมีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างอื่นเพิ่มเติมโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้มีการโต้แย้งแต่อย่างใด ที่ดิน 8 แปลง นี้ไม่ใช่สินสมรส โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วย
การที่จำเลยและครอบครัวของจำเลยร่วมดำเนินกิจการของร้าน ม. เพื่อกระทำกิจการค้าขายวัสดุก่อสร้างร่วมกันก่อนที่จะมีการจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด ซึ่งมีความประสงค์จะแบ่งปันกำไรที่จะพึงได้จากกิจการที่ทำนั้น เข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ได้จดทะเบียน โดยมีสมาชิกในครอบครัวของจำเลยทุกคนเป็นหุ้นส่วน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 ประกอบมาตรา 1025 การที่โจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวจะขอใส่ชื่อร่วมในโฉนดที่ดิน 87 แปลง ซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แทนห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น เท่ากับเป็นการเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนซึ่งไม่อาจกระทำได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1040 เมื่อกรณีฟังได้ว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนสามัญมิใช่ของจำเลย โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอใส่ชื่อร่วมได้
___________________________

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยดำเนินการใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมร่วมกับจำเลยด้วยกึ่งหนึ่งในที่ดินทั้ง 93 แปลง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของร่วมกับจำเลยในฐานะมีกรรมสิทธิ์ร่วม 1 ใน 10 ส่วนของที่ดินตามฟ้อง ยกเว้นที่ดินโฉนดเลขที่ 8183, 8184, 8185, 1888, 1889 และ 8190 ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์ถึงแก่ความตาย ศาลฎีกาอนุญาตให้นางบังอร และนายปณัยพล เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 43
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2503 โจทก์จำเลยสมรสกันตามกฎหมาย ต่อมาปี 2533 โจทก์จำเลยแยกกันอยู่โดยมิได้หย่าขาดจากกัน ระหว่างสมรสจำเลยได้มาซึ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 8183, 8184, 8185, 8188, 8189, 8190, 9708, 12040, 12041, 12042, 12043, 12044, 12045, 12046, 12047, 12048, 12555, 17663, 9746, 28989, 28990, 28991, 28992, 28993, 28994, 28995, 28996, 28997, 28998, 28999 ถึง 29026, 38284, 38285, 38286 ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 9331, 10203, 11251, 11252, 11254 และ 10202 ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 5349 ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 3512, 3565, 3567, 8985 ตำบลไชยสถาน อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 5654, 6127, 6128, 7829, 5630, 7772, 5605, 52382, 53398, 53399, 53400, 65411 ตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 1483, 1579, 8296, 11933, 19439 ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และที่ดินโฉนดเลขที่ 519, 22214, 22215, 22220 ตำบลสันพระเนตร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นสินสมรสหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า ปี 2515 โจทก์โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 8183, 8184, 8185, 8188, 8189 และ 8190 ให้จำเลย เพราะโจทก์ไปมีภริยาใหม่ 1 คน และมีบุตรกับภริยาใหม่อีก 1 คน จำเลยเกรงว่าโจทก์จะนำที่ดินไปยกให้แก่บุตรกับภริยาใหม่ โจทก์ยกที่ดินดังกล่าวให้จำเลยโดยไม่ได้ระบุให้เป็นสินส่วนตัว ต่อมาโจทก์มีบุตรกับภริยาใหม่อีก 2 คน ปลายปี 2519 จึงจดทะเบียนสมรสกับภริยาใหม่ แต่หลังจากนั้นไม่ถึง 1 ปี ก็จดทะเบียนหย่า โจทก์ให้ภริยาใหม่กู้ยืมเงินไปทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เมื่อมีกำไรก็นำเงินมาใช้คืนโจทก์ เดิมจำเลยมีร้านมัทนพาณิชย์ ค้าขายเล็กๆน้อยๆ โจทก์แนะนำให้จำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าหลายชนิด โดยโจทก์ให้เงินจำเลยบ้าง กู้เงินมาให้จำเลยบ้าง เพื่อทำการค้า ปี 2509 จำเลยซื้อที่ดิน 1 แปลง ที่ถนนช้างม่อย ปี 2511 ได้ก่อสร้างอาคารบริษัทมัทนพาณิชย์ จำกัด บนที่ดินดังกล่าว เป็นอาคาร 5 ชั้น ชั้นที่ 2 ถึงชั้นที่ 4 ให้ผู้อื่นเช่าได้ค่าเช่าเดือนละ 70,000 ถึง 100,000 บาท โดยจำเลยเป็นผู้เก็บค่าเช่า ที่ดิน 9 โฉนด บนถนนห้วยแก้วเป็นทรัพย์สินของโจทก์ซื้อมาตั้งแต่ปี 2502 ปลูกบ้านให้ชาวต่างประเทศเช่า ต่อมาปี 2515 โอนให้จำเลยและให้จำเลยเก็บค่าเช่า ปี 2512 โจทก์ จำเลยและญาติของจำเลยร่วมกันก่อตั้งบริษัทเหมืองแร่แม่อาว จำกัด แต่ปี 2525 ได้ให้ผู้อื่นเช่าไป ในการทำธุรกิจของทั้งสองบริษัทจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์เป็นการส่วนตัวบ้าง บริษัทหรือจำเลยกู้เงินธนาคารโดยโจทก์ค้ำประกันบ้าง รายได้จากการทำธุรกิจนำไปซื้อที่ดินหลายแปลง ปี 2530 ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทมัทนพาณิชย์ จำกัด แต่จำเลยยังครอบครองและเก็บค่าเช่า ฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยเบิกความว่า จำเลยเกิดและเติบโตที่จังหวัดเชียงใหม่ บิดาจำเลยเป็นคนจีนเปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้าชาย ปี 2495 จำเลยใช้เงินทุนของครอบครัวซึ่งมีมาแต่เดิม เปิดร้านค้าวัสดุก่อสร้างชื่อร้านมัทนพาณิชย์ ขอจดทะเบียนพาณิชย์ในปี 2496 แต่จดทะเบียนได้ในปี 2499 ร้านมีกิจการดีมาก ปี 2513 จึงจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด ต่อมาปลูกสร้างอาคารมัทนพาณิชย์บนถนนช้างม่อย แล้วย้ายบริษัทไปอยู่ที่ทำการแห่งใหม่ และทยอยขายอาคารเดิมไป โจทก์มีชื่อร่วมเป็นผู้ก่อการและถือหุ้นบริษัท แต่ไม่ได้นำเงินมาลงทุน บริษัทมัทนพาณิชย์หยุดกิจการในปี 2527 นอกจากนั้นจำเลยตั้งบริษัทเหมืองแร่แม่อาว จำกัด มีชื่อโจทก์เป็นผู้ร่วมก่อการแต่ไม่ได้นำเงินมาลงทุน ขณะนี้หยุดกิจการแล้ว แต่ยังไม่ได้เลิกบริษัท เมื่อโจทก์จำเลยตกลงสมรสกัน บิดาโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 8183 ถึง 8190 รวม 8 แปลง ให้จำเลยแต่ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของ ปัจจุบันเหลือ 6 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 8183, 8184, 8185, 8188, 8189 และ 8190 จำเลยปลูกบ้านบนที่ดินดังกล่าวโดยใช้วัสดุก่อสร้างจากร้านมัทนพาณิชย์ โจทก์ช่วยค่าก่อสร้างบ้าง ปลูกบ้านเสร็จปี 2503 ก่อนการสมรสไม่นาน ปี 2504 โจทก์จำเลยเริ่มทะเลาะกัน โจทก์ต้องคดีอาญาหายไป 3 ปี จากนั้นโจทก์ก่อตั้งบริษัทเติมเอ็นจีเนียริ่ง จำกัด ที่กรุงเทพมหานคร และได้เลขานุการเป็นภริยาใหม่ จำเลยบอกว่าโจทก์จะยกที่ดิน 8 แปลง ให้ใครไม่ได้ ต้องยกให้จำเลย โจทก์จึงทำสัญญาให้ที่ดินดังกล่าวแก่จำเลย ปี 2508 จำเลยใช้เงินของร้านมัทนพาณิชย์ซื้อที่ดินข้างเคียงอีก 11 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 9708, 12040 ถึง 12048 และ 12550 โจทก์ไม่เคยช่วยเหลือทางการเงินแก่จำเลย เมื่อบริษัทมัทนพาณิชย์ จำกัด ขาดเงิน จำเลยต้องกู้ยืมเงินจากโจทก์ตามสัญญากู้ยืม โจทก์อ้างว่าต่างคนต่างทำกิจการของตัวเองต้องรับผิดชอบตัวเอง สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 9746 พระสังฆราชคริสต์โดยนางละม่อม ซึ่งถือกรรมสิทธิ์แทนโอนให้จำเลยเพื่อตีใช้หนี้ค่าวัสดุก่อสร้างที่ซื้อเชื่อติดต่อกันเรื่อยมาตั้งแต่จำเลยสมรสกับโจทก์ ต่อมาจำเลยแบ่งเป็นแปลงย่อยคือ โฉนดที่ดินเลขที่ 28989 ถึง 29026 วันที่ 12 เมษายน 2524 จำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 38284 ถึง 38286 เพื่อให้ที่ดินแปลงอื่นของจำเลยมีทางออกสู่ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 9331, 11251, 11252 และ 11254 จำเลยได้มาก่อนมีการออกโฉนดหลายปี ปัจจุบันที่ดินโฉนดเลขที่ 11252, 11254 และ 10203 ถูกเวนคืนไปทำ

ถนนสายเชียงใหม่-ลำปาง สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 5349 นายสมบูรณ์ โอนตีใช้หนี้ค่าซื้อวัสดุก่อสร้างจากร้านมัทนพาณิชย์เมื่อปี 2508 ปี 2513 จำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3512, 3513 และ 3516 แล้วรวมโฉนดเป็นโฉนดเลขที่ 3512 ปี 2520 จำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3567 ปี 2525 จำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3565 ปี 2513 จำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 8985 สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 5654, 6126 ถึง 6128, 7829, 5630, 7772 และ 5605 จำเลยซื้อมาระหว่างปี 2509 ถึง 2512 ตามสัญญาขายที่ดิน 7 ฉบับ ที่ดินโฉนดเลขที่ 52382, 53398 ถึง 53400 แบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงอื่นที่จำเลยซื้อจากนางบุ่ง ที่ดินโฉนดเลขที่ 1483 เป็นการรวมโฉนดที่ดิน 10 แปลง เข้าด้วยกัน ต่อมานำมาแบ่งแยกโฉนด หลังจากนั้นที่ดินโฉนดเลขที่ 1483 และ 19439 ถูกเวนคืน คงเหลือที่ดินโฉนดเลขที่ 1579 และ 8296 ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 11933 คือสถานที่ตั้งร้านมัทนพาณิชย์เดิม ที่ดินโฉนดเลขที่ 519 จำเลยซื้อมาตั้งแต่ปี 2512 แล้วนำมาแบ่งแยกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 22214, 22215 และ 22220 ปัจจุบันที่ดินโฉนดเลขที่ 519 ถูกเวนคืนเกือบทั้งแปลง ที่ดินดังกล่าวทั้งหมดจำเลยได้มาจากการที่ลูกหนี้ตีใช้หนี้ค่าวัสดุก่อสร้างที่ซื้อจากร้านมัทนพาณิชย์บ้าง จำเลยใช้เงินของร้านมัทนพาณิชย์ซื้อมาบ้าง โดยโจทก์ไม่ได้ร่วมซื้อ และจำเลยไม่ต้องขอความยินยอมจากโจทก์จึงเป็นที่ดินของกงสีระหว่างจำเลย มารดาและพี่น้องของจำเลย แต่การขายที่ดินบางครั้งให้โจทก์ลงลายมือชื่อลอยไว้ในหนังสือยินยอมบางครั้งจำเลยนำที่ดินไปจำนองธนาคารเอาเงินมาหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายของร้านมัทนพาณิชย์ บ้านเลขที่ 44 ต่อมาเปลี่ยนเป็นเลขที่ 35/2 จำเลยอาศัยอยู่กับครอบครัว ปี 2520 โจทก์ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาแต่ไม่ได้เข้าอยู่อาศัย เมื่อจำเลยทราบว่าโจทก์มีภริยาใหม่ จำเลยไม่ได้ขอหย่าเพราะเกรงจะเสียชื่อเสียง แต่เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยจึงฟ้องหย่าในปี 2533 แต่ต่อมาขอถอนฟ้อง นางวันเพ็ญ เบิกความว่า พยานรู้จักมารดาจำเลยตั้งแต่ปี 2483 จำเลยช่วยมารดาค้าขาย เมื่อจำเลยอายุ 20 ปี ได้เปิดร้านมัทนพาณิชย์ มารดาจำเลยกับบุตรทุกคนร่วมกันดำเนินกิจการร้านต่อมาตั้งเป็นบริษัท เมื่อจำเลยสมรส พยานเคยพบสามีจำเลยครั้งเดียวที่ร้านมัทนพาณิชย์ นายนิยม เบิกความว่า เดิมร้านขายอาหารเป็นชื่อมารดาจำเลย ต่อมามารดาจำเลยเปิดร้านขายวัสดุก่อสร้างใช้ชื่อมัทนพาณิชย์ ปี 2497 พยานเริ่มรับเหมาก่อสร้างซื้อวัสดุก่อสร้างจากร้านนี้ พยานไม่เคยพบโจทก์ ไม่เคยเห็นโจทก์มาช่วยจำเลยค้าขาย พันเอกพิเศษสกุล เบิกความว่า พยานรับราชการทหารที่จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2501 ถึง 2536 ปี 2534 เป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่เรื่อยมา พยานรู้จักจำเลยตั้งแต่ปี 2501 โดยซื้อวัสดุก่อสร้างจากร้านของจำเลยไปใช้ในราชการ เห็นจำเลยกับพี่น้องทำการค้าอยู่ด้วยกัน นางจิราพร น้องสาวของจำเลยเบิกความว่า เดิมบิดาตัดเย็บเสื้อผ้า มารดาขายอาหาร ปี 2495 มารดาเห็นว่าจังหวัดเชียงใหม่กำลังมีการก่อสร้างมากมายจึงตั้งร้านขายวัสดุก่อสร้างชื่อร้านมัทนพาณิชย์โดยมารดาและบุตรทุกคนช่วยกันค้าขาย เหตุที่ใช้ชื่อจำเลยเป็นชื่อร้านเพราะจำเลยค้าขายคล่องและพี่น้องเชื่อใจ เงินฝากในธนาคารเป็นของครอบครัวแต่ให้จำเลยเบิกถอนได้คนเดียว ปี 2513 จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทประกอบกิจการเรื่อยมากระทั่งหยุดกิจการปี 2527 และพี่น้องทั้งหมดมาเปิดบริษัทใหม่ชื่อบริษัทมัทนพาณิชย์เชียงใหม่ จำกัด หลังจากจำเลยสมรสกับโจทก์ โจทก์ไม่เคยมาช่วยกิจการของร้าน โจทก์มาเชียงใหม่ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ จำเลยไม่เคยไปอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ที่ดินทั้งหมดเป็นของครอบครัวเพียงใส่ชื่อจำเลยไว้เท่านั้น นายประโยชน์ น้องชายจำเลยเบิกความว่า มารดาจำเลยมีบุตร 4 คน จำเลยเป็นบุตรคนที่ 2 เดิมมารดาเปิดร้านขายอาหาร ปี 2495 มารดาเห็นว่าการค้าวัสดุก่อสร้างจะไปได้ดีจึงเปิดร้านขายวัสดุก่อสร้างชื่อร้านมัทนพาณิชย์ ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว บุตรทุกคนช่วยกันค้าขายโดยไม่ได้รับเงินเดือน แต่ส่วนใหญ่จำเลยดูแลกิจการแทนมารดา เมื่อก่อตั้งเป็นบริษัทมัทนพาณิชย์ จำกัด มีผู้ถือหุ้น 7 คน แต่ทุกคนไม่ได้นำเงินมาลงทุนเพียงใส่ชื่อให้ครบตามกฎหมายเท่านั้น ปี 2512 ถึง 2513 ครอบครัวขายกิจการไปทำเหมืองแร่ชื่อบริษัทเหมืองแร่แม่อาว จำกัด โดยใช้เงินทุนของครอบครัว จำเลยให้พยานไปดูแลกิจการบริษัทดังกล่าวถึงปี 2515 พยานจึงไปตั้งบริษัทของตัวเอง ที่ดินที่มีชื่อจำเลยทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของครอบครัว โจทก์ทำงานที่กรุงเทพมหานครไม่เคยมาช่วยกิจการของครอบครัว เห็นว่า ครอบครัวของจำเลยเป็นครอบครัวคนจีน ปี 2495 จำเลยอายุประมาณ 20 ปี เปิดกิจการร้านมัทนพาณิชย์เพื่อค้าวัสดุก่อสร้าง ยื่นคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ในปี 2496 ระบุว่าเริ่มต้นกิจการวันที่ 13 กรกฎาคม 2496 ขณะนั้นจำเลยอายุยังน้อยไม่มีเงินทุนเป็นของตัวเอง ได้ความจากนางจิราพรน้องสาวจำเลยและนายประโยชน์ น้องชายจำเลยว่า มารดาเห็นว่าจังหวัดเชียงใหม่กำลังมีการก่อสร้างมากมายจึงตั้งร้านขายวัสดุก่อสร้างชื่อร้านมัทนพาณิชย์ เหตุที่ใช้ชื่อจำเลยเป็นชื่อร้านเพราะจำเลยค้าขายคล่องและพี่น้องเชื่อใจ มารดาและบุตรทุกคนช่วยกันทำการค้าโดยไม่ได้รับเงินเดือน สอดคล้องกับคำเบิกความของนางผ่องศรีและนางวันเพ็ญ ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านกับมารดาจำเลยว่า เดิมมารดาจำเลยทำร้านขายอาหาร ต่อมาเปิดร้านมัทนพาณิชย์ขายวัสดุก่อสร้าง โดยมารดาจำเลยกับบุตรทุกคนร่วมกันดำเนินกิจการ แสดงว่ากิจการร้านมัทนพาณิชย์เป็นของครอบครัวฝ่ายจำเลย ไม่ใช่ของจำเลยคนเดียว จำเลยเป็นเพียงผู้บริหารหลัก รายได้ของร้านนำมาใช้จ่ายในครอบครัว เช่น ส่งนายประโยชน์ไปศึกษาต่อต่างประเทศ โจทก์เพิ่งสมรสกับจำเลยในปี 2503 แต่โจทก์ยังคงทำงานอยู่ที่กรุงเทพมหานครไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการของร้านมัทนพาณิชย์เจือสมกับคำพยานโจทก์คือนายเพียงและหม่อมราชวงศ์อดุลย์กิติ์ที่เบิกความยืนยันว่า พบโจทก์บางครั้งเฉพาะช่วงวันเสาร์และวันอาทิตย์ที่ร้านมัทนพาณิชย์ ยิ่งกว่านั้นตัวโจทก์เองเบิกความว่า ในการประกอบธุรกิจของจำเลยหากจำเลยต้องการเงินหมุนเวียน โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินบ้าง หรือค้ำประกันเงินกู้ให้จำเลยบ้างแต่จำเลยต้องชำระคืนจนครบถ้วนสอดคล้องกับบันทึกการยืมเงินและสัญญากู้เงิน แสดงว่า ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยในด้านธุรกิจและด้านการเงินเป็นความสัมพันธ์อย่างคู่สัญญาทางแพ่ง ไม่ใช่ความสัมพันธ์อย่างสามีภริยาหรือบุคคลในครอบครัว ทำให้เชื่อได้ว่าโจทก์ไม่มีส่วนใดๆ ในกิจการของร้านมัทนพาณิชย์และทรัพย์สินของครอบครัวจำเลย
สำหรับที่ดิน 8 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 8183 ถึง 8190 ซึ่งปัจจุบันเหลือ 6 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 8183, 8184, 8185, 8188, 8189 และ 8190 โจทก์ซื้อมาตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2502 ก่อนสมรสกับจำเลย แต่ต่อมาปรากฏว่าวันที่ 31 กรกฎาคม 2515 โจทก์ยกให้จำลย ตามสำเนาหนังสือสัญญาให้ที่ดินรวม 8 โฉนด แม้ระบุว่า ยกให้พร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนเพราะเป็นสามีกับภริยา โจทก์ก็เบิกความว่ายกให้จำเลยเพราะโจทก์ไปมีภริยาใหม่และมีบุตรกับภริยาใหม่ 2 คน จำเลยเกรงว่าโจทก์จะนำที่ดินไปยกให้แก่บุตรของภริยาใหม่ สอดคล้องกับทางนำสืบของจำเลยว่า จำเลยห้ามโจทก์ยกที่ดินดังกล่าวให้คนอื่น ต้องยกให้จำเลยเท่านั้นเพราะที่ดินดังกล่าวบิดาโจทก์ซื้อให้จำเลยก่อนโจทก์จำเลยสมรสกัน แต่ให้ใส่ชื่อโจทก์ไว้ เห็นว่า ตามสำเนาหนังสือสัญญาให้ที่ดิน มีข้อสัญญาระบุว่า ผู้ให้ยอมยกที่ดินทั้งแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้รับโดยเด็ดขาดนับแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไป เป็นการยกให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนเพราะเป็นสามีกับภริยา แม้หนังสือยกให้ซึ่งสามีให้ทรัพย์สินแก่ภริยาดังกล่าว จะมิได้ระบุไว้ชัดว่าให้เป็นสินส่วนตัวก็ตาม แต่การที่โจทก์ยกที่ดิน 8 แปลง ดังกล่าวให้จำเลยก็เพื่อตอบแทนการที่จำเลยยอมยุติปัญหาที่โจทก์ไปมีภริยาอีกคนหนึ่ง จึงแปลเจตนาจากข้อความในเอกสารตามพฤติการณ์แห่งกรณีได้ว่า โจทก์ได้ให้เป็นสินส่วนตัวของภริยาเด็ดขาดแล้ว ประกอบกับพฤติการณ์ที่ภายหลังโจทก์ยกที่ดินให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยและครอบครัวจำเลยได้ใช้ประโยชน์โดยอาศัยอยู่บนที่ดินดังกล่าวเรื่อยมา และมีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างอื่นเพิ่มเติมโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้มีการโต้แย้งแต่อย่างใด เมื่อที่ดิน 8 แปลงนี้ไม่ใช่สินสมรส โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วย ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในที่ดินส่วนนี้จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ดินอีก 87 แปลง โจทก์นำสืบเพียงว่า จำเลยได้มาระหว่างสมรสกับโจทก์ย่อมเป็นสินสมรส ฝ่ายจำเลยนำสืบว่า ที่ดินทั้งหมดจำเลยได้มาจากการที่ลูกหนี้ตีใช้หนี้ค่าซื้อวัสดุก่อสร้างจากร้านมัทนพาณิชย์บ้าง และจำเลยใช้เงินของร้านมัทนพาณิชย์ซื้อมาบ้าง เห็นว่า ตามสำเนาโฉนดที่ดิน มีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยได้มาหลังจากที่จำเลยสมรสกับโจทก์และก่อนที่บริษัทมัทนพาณิชย์ จำกัด หยุดกิจการในปี 2527 นอกจากบางแปลงแบ่งแยกจากโฉนดเดิมแล้วออกโฉนดใหม่หลังปี 2527 จำเลยทราบรายละเอียดที่ดินแต่ละแปลงว่าแปลงใดได้มาโดยการซื้อ แปลงใดได้มาโดยการตีใช้หนี้แต่ทำเป็นสัญญาซื้อขาย แปลงใดมีการรวมโฉนด แปลงใดมีการแบ่งแยกโฉนด แปลงใดมีการจำนอง แปลงใดไถ่จำนองแล้ว ในขณะที่โจทก์ไม่สามารถเบิกความในรายละเอียดดังกล่าว แสดงว่าจำเลยเป็นผู้จัดการทรัพย์สินที่ดินโดยโจทก์ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม ยิ่งกว่านั้นเมื่อพิจารณาสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน 2 โฉนด โฉนดเลขที่ 1579 และ 8296 ระบุว่า จำนองเพื่อเป็นประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของบริษัทมัทนพาณิชย์ จำกัด สำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน 2 โฉนด ที่ดินโฉนดเลขที่ 1579 และ 8296 ระบุว่าจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้เงินที่นางสาวจิราภรณ์ มีต่อบริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด สำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน 2 โฉนด โฉนดเลขที่ 5654 และ 5605 ระบุว่า จำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ของบริษัทมัทนพาณิชย์ จำกัด สำเนาหนังสือสัญญาจำนองกรรมสิทธิ์ที่ดิน 10 โฉนด ระบุว่าจำนองเพื่อออกหนังสือค้ำประกันบริษัทมัทนพาณิชย์ ต่อบริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด และสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน 4 แปลง ระบุว่า จำนองเพื่อประกันหนี้จ่ายเงินตามใบเสร็จรับเงินที่ธนาคารค้ำประกันร้านมัทนพาณิชย์ไว้ต่อบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด พยานเอกสารเหล่านี้แสดงว่าที่ดินเหล่านั้นถูกนำมาใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ที่นำมาใช้จ่ายในการจัดหาวัสดุก่อสร้างมาขายในร้านมัทนพาณิชย์ แม้ร้านจะชื่อเดียวกับจำเลยและจำเลยเป็นหลักในการทำธุรกิจ แต่ก็เป็นกิจการที่ครอบครัวของจำเลยนำเงินของครอบครัวมาลงทุนและพี่น้องคนอื่นก็เข้าร่วมดำเนินกิจการด้วยโดยไม่เคยขอแบ่งแยกหรือขอใส่ชื่อร่วมในชื่อร้านหรือในโฉนดที่ดิน ร้านและทรัพย์สินต่างๆ รวมทั้งที่ดินพิพาท จึงไม่ใช่ของจำเลย แต่เป็นของครอบครัวจำเลยที่จำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนเท่านั้น การที่จำเลยและครอบครัวของจำเลยร่วมดำเนินกิจการของร้านมัทนาพาณิชย์ เพื่อกระทำกิจการค้าขายวัสดุก่อสร้างร่วมกันก่อนที่จะมีการจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดใน ปี 2513 ซึ่งมีความประสงค์จะแบ่งปันกำไรที่จะพึงได้จากกิจการที่ทำนั้น เข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ได้จดทะเบียน โดยมีสมาชิกในครอบครัวของจำเลยทุกคนเป็นหุ้นส่วน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 ประกอบมาตรา 1025 การที่โจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวจะขอใส่ชื่อร่วมในโฉนดที่ดิน 87 แปลง ซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แทนห้างหุ้นส่วนสามัญนั้นเท่ากับเป็นการเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนซึ่งไม่อาจกระทำได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1040 เมื่อกรณีฟังได้ว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนสามัญ มิใช่ของจำเลย โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอใส่ชื่อร่วมได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า จำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของ 1 ใน 5 ส่วน และให้โจทก์ลงชื่อเป็นเจ้าของร่วม 1 ใน 10 ส่วน ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์เสียทั้งหมด ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 

บทความที่น่าสนใจ

- หากแกล้งไปจดทะเบียนหย่า จะมีผลทางกฎหมายอย่างไร

-หลักเกณฑ์การรับและเลิกรับบุตรธรรมจะเป็นอย่างไร

- การรับบุตรบุญธรรม

-ฟ้องหย่าเพราะสามีหรือภริยามีชู้

-ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากชู้

-ไปทำงานที่อื่นไม่ยอมกลับมาดูแลภริยาและลูกฟ้องหย่าได