คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5729/2556

ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 นั้น จำเลยที่ 1 ต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอก คือ (1) ผู้ใด (2) ฆ่า (3) ผู้อื่น กล่าวคือ รู้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการฆ่า และรู้ด้วยว่า วัตถุแห่งการกระทำคือผู้อื่นนั้นยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งปัญหาว่าจำเลยที่ 1 รู้หรือไม่ว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วนั้น โจทก์ไม่ได้ฎีกา และฎีกาโจทก์รับว่าจำเลยที่ 1 เข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลล่างว่าจำเลยที่ 1 พยายามข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายโดยใช้กำลังประทุษร้ายผู้ตายจนหมดสติแล้วนำไปทิ้งที่อ่างเก็บน้ำโดยเข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 มิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดว่าผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย จะถือว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลไม่ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงขาดองค์ประกอบความผิดตามความใน ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5729/2556

 

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 276, 288, 289 (7) และริบรถจักรยานยนต์ของกลาง

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหาฆ่าผู้อื่นเพื่อปกปิดความผิดหรือหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดที่ตนได้กระทำไว้ ส่วนข้อหาข่มขืนกระทำชำเราให้การปฏิเสธว่ากระทำความผิดฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเราเท่านั้น

จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 80, 288 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่น ลงโทษประหารชีวิต ฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเรา ลงโทษจำคุก 8 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้แต่ละกระทงกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) ฐานฆ่าผู้อื่น คงจำคุกตลอดชีวิต ฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเรา คงจำคุก 4 ปี เมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตในความผิดกระทงแรกแล้วไม่อาจนำโทษจำคุกในกระทงหลังมารวมได้อีก คงจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิตสถานเดียว ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 แต่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ลงโทษจำคุก 10 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 5 ปี รวมกับโทษจำคุก 4 ปี ในความผิดฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเราตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นจำคุก 9 ปี นอกจากนี้แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า นางสาวเครือวัณ ผู้ตาย เป็นภริยาของนายเงิน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2552 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา ผู้ตายไปร่วมวงดื่มสุราที่บ้านนายบุญสม มีผู้ร่วมดื่มสุรา คือ จำเลยทั้งสอง นางออน ภริยาของนายบุญสม ซึ่งเป็นมารดาของจำเลยที่ 1 ที่เกิดจากสามีเก่า นายดวงจันทร์และนางเหรียญ โดยนายบุญสมมาร่วมดื่มภายหลังจากกลับจากเลิกงานเพียง 2 แก้ว จนกระทั่งเวลาประมาณ 18 นาฬิกา ก็เลิกดื่มแยกย้ายกันไป จำเลยที่ 1 และผู้ตายพากันไปดื่มสุราที่บ้านนายสิงห์คำ มีนายดวงจันทร์ นางดวงจันทร์ นางสาวทิพวัลย์ และนางสอางค์ศรี พี่สาวของจำเลยที่ 2 ร่วมดื่มในวงสุราจนถึงเวลาประมาณ 20.30 นาฬิกา จึงเลิกดื่ม นายสิงห์คำบอกจำเลยที่ 1 ให้ไปส่งผู้ตาย แล้วจำเลยที่ 1 และผู้ตายออกจากบ้านไปด้วยกัน คืนนั้นผู้ตายไม่ได้กลับบ้าน รุ่งขึ้นนายเงินตามหาไม่พบและเข้าใจว่าผู้ตายไปหามารดา วันที่ 5 ตุลาคม 2552 เวลาประมาณ 13 นาฬิกา มีผู้พบศพผู้ตายในอ่างเก็บน้ำภายในรีสอร์ทเชียงใหม่ไฮแลนด์ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร พันตำรวจโทพงษ์ศักดิ์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแม่ริม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ รับแจ้งเหตุแล้วได้แจ้งนายแพทย์อนุพงษ์ไปร่วมชันสูตรพลิกศพ นายแพทย์อนุพงษ์เห็นสภาพศพแล้วเชื่อว่าผู้ตายถูกทำร้ายร่างกายก่อนตาย ได้ทำรายงานไว้ตามรายงานชันสูตรพลิกศพ พันตำรวจโทพงษ์ศักดิ์ส่งศพผู้ตายไปที่แผนกนิติเวช โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่เพื่อตรวจพิสูจน์หาร่องรอยและสาเหตุการตาย นายแพทย์จาตุรงค์ได้ทำการตรวจพิสูจน์และลงความเห็นว่าผู้ตายถูกทำร้ายศีรษะด้านขวามีรอยช้ำ คอด้านขวามีรอยช้ำของกล้ามเนื้อ หน้าอกมีรอยช้ำ กระดูกซี่โครงขวาหักตั้งแต่ซี่ที่ 3 ถึงซี่ที่ 7 กระดูกซี่โครงซ้ายหักตั้งแต่ซี่ที่ 6 ถึงซี่ที่ 9 ตับมีรอยฉีกขาด พบโลหิตตกในช่องท้องประมาณ 1,300 มิลลิเมตร สันนิษฐานว่าโลหิตออกเพราะตับอักเสบ และตรวจพบสิ่งแปลกปลอมในถุงลมปอด เชื่อว่าผู้ตายสำลักน้ำ แสดงว่าขณะจมน้ำยังมีชีวิตและสำลักเอาสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอด รอยฟกช้ำตามร่างกายเกิดจากการถูกกระแทกด้วยของแข็งมีคม ซี่โครงหักเนื่องจากถูกกระแทกด้วยของแข็งอย่างรุนแรง รอยฟกช้ำที่คอเป็นรอยจุดเป็นจ้ำสันนิษฐานว่าเกิดจากการกดด้วยนิ้วมือ ตับฉีกขาดจากการถูกกระแทกอย่างรุนแรงที่บริเวณหน้าท้อง ไม่พบเชื้ออสุจิในช่องคลอดและไม่พบรอยฉีกขาดใหม่ของช่องคลอด ตายเนื่องจากการจมน้ำ วันที่ 6 ตุลาคม 2552 ดาบตำรวจเหรียญทองติดตามตัวจำเลยที่ 1 มาสอบถาม จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่าร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิด พันตำรวจโทพงษ์ศักดิ์ได้ขอศาลชั้นต้นให้ออกหมายจับจำเลยทั้งสองและติดตามจับจำเลยที่ 2 ได้ในคืนนั้น ชั้นจับกุมจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 กลับให้การรับสารภาพว่าร่วมกระทำกับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำร้ายและกระทำชำเรา ส่วนจำเลยที่ 1 ช่วยจับขาแต่ไม่ได้กระทำชำเรา ส่วนจำเลยที่ 2 คงให้การปฏิเสธเช่นเดิม คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ยกฟ้อง คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเรายุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ลงโทษจำคุก 4 ปี

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 เจตนาฆ่านางสาวเครือวัณ ผู้ตาย ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสอง บัญญัติว่า "การกระทำโดยเจตนา ได้แก่การกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น" วรรคสาม บัญญัติว่า "ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้" ดังนั้น การที่จะถือว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าได้นั้น จำเลยที่ 1 ต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 คือ (1) ผู้ใด (2) ฆ่า และ (3) ผู้อื่น กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ต้องรู้ข้อเท็จจริงที่ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการ "ฆ่า" และรู้ด้วยว่าวัตถุแห่งการกระทำเป็น "ผู้อื่น" (หมายความว่าผู้อื่นนั้นยังมีชีวิตอยู่) หากจำเลยที่ 1 เข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตาย (เป็นศพ) แล้วก็ไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าผู้อื่น คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นขณะเกิดเหตุ แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 พยายามข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายโดยใช้กำลังประทุษร้ายผู้ตายจนหมดสติแล้วนำไปทิ้งที่อ่างเก็บน้ำ โดยเข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ซึ่งโจทก์ก็ฎีกายอมรับว่าขณะที่จำเลยที่ 1 นำผู้ตายไปทิ้งอ่างเก็บน้ำนั้นจำเลยที่ 1 สำคัญผิดว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ดังนั้นการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงถือว่ามีเจตนาฆ่าผู้ตายหาได้ไม่เพราะจำเลยที่ 1 มิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดอันจะถือว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลไม่ได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 59 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาฆ่าผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 แต่กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตามมาตรา 291 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน


 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่