สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

บันทึกท้ายสัญญาจะซื้อขายระบุให้ชำระเงินแก่บุคคลภายนอกมีผลบังคับได้หรือไม่

ในการทำนิติกรรมระหว่างกันนั้น โดยหลักแล้วต่างฝ่ายต่างเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ต่อกัน เช่นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ฝ่ายผู้ซื้อเป็นเจ้าหนี้ในหนี้ส่งมอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ส่วนฝ่ายผู้ขายเป็นเจ้าหนี้ในหนี้ราคาที่ดินที่ซื้อขายกันตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน เป็นต้น หากปรากฏว่า ผู้ขายต้องการให้ผู้ซื้อที่ดินชำระเงินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกสัญญาจะมีผลเป็นอย่างไร

ในกรณีดังกล่าว ทางกฎหมายเรียกว่า สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก ซึ่งบุคคลภายนอกมีสิทธิในอันที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ตามสัญญาชำระหนี้ให้แก่ตนได้โดยตรง และเมื่อสิทธิของบุคคลภายจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคคลภายนอกนั้นได้เรียกร้องว่าจะให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่ตน และส่งผลให้ลูกหนี้รวมถึงคู่สัญญาอีกฝ่ายจะตกลงกันเพื่อยกเลิกเพื่อของบุคคลภายนอกนั้นไม่ได้

ยกตัวอย่างเช่น นาย ก ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๓๔ พร้อมสิ่งปลูกสร้างกับนาย ข เจ้าของที่ดิน ในราคา ๑๐ ล้านบาท โดยได้ระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวว่า นายจะต้องชำระหนี้ราคาที่ดินดังกล่าวให้แก่ นาง ค แทนการชำระหนี้ให้แก่นาย ข ดังนี้ สัญญาจะซื้อจะขายตามข้อสัญญาดังกล่าว เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก ต่อมาเมื่อนาง ค ทราบว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่าง นาย ก กับ นาย ข ได้มีข้อสัญญาดังกล่าวเพื่อให้ชำระค่าราคาที่ดินจำนวน ๑๐ ล้านบาท ให้แก่นาง ค ๆ จึงได้จัดทำหนังสือแสดงเจตนาต่อนาย ก และนาย ข ว่า ตนประสงค์จะถือเอาประโยชน์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าว ทำให้สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกมีผลใช้บังคับได้ และนาย ก และนาย ข ไม่อาจตกลงเปลี่ยนแปลงเกี่ยวข้องกับสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกได้อีกต่อไป

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังนี้
มาตรา ๓๗๔ ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกไซร้ ท่านว่าบุคคลภายนอกมีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้
ในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น

 

กรณีศึกษาตามคำพิพากษา โดยมีข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้
ตามสัญญาจะซื้อจะขายพิพาทไม่ได้กำหนดวันจดทะเบียนโอนที่ดินและโรงงานให้แก่จำเลยที่ 1 จึงต้องแปลความว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสามนั้นถึงกำหนดชำระเมื่อมีการจดทะเบียนโอนที่ดินและโรงงานให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วนั่นเอง เมื่อปรากฏว่าบริษัท อ. จดทะเบียนโอนที่ดินและโรงงานให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 ย่อมถือว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้โจทก์ทั้งสามถึงกำหนดในวันดังกล่าว หาใช่ถึงกำหนดนับแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2557 อันเป็นวันที่โจทก์ทั้งสามแสดงเจตนาให้จำเลยทั้งสามทราบว่าจะถือเอาประโยชน์ตามสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7565 - 7567/2561
คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 และให้เรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 6,056,196.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 5,741,216 บาท (ที่ถูก 5,741,261 บาท) แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 1,471,435.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,394,907 บาท และแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 3,132,845.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,969,907.04 บาท (ที่ถูก 2,969,707 บาท) นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 6,056,196.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 5,741,261 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 1,471,435.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,394,907 บาท และแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 3,132,845.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,969,707 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 ธันวาคม 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 70,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 30,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 20,000 บาท และโจทก์ที่ 3 จำนวน 20,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กับให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความเรียงตามโจทก์แต่ละราย รายละ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับบริษัทเอบี. วูด จำกัด โดยจำเลยที่ 1 ตกลงจะซื้อโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราพร้อมที่ดินของบริษัทเอบี. วูด จำกัด ต่อมาวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กับบริษัทเอบี. วูด จำกัด โดยนายเจียมรัตน์ ทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญา กำหนดให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบภาระหนี้การค้าของบริษัทเอบี. วูด จำกัด จำนวน 11 ราย รวมเป็นยอดหนี้ทั้งหมด 14,956,881 บาท ซึ่งรวมหนี้ของโจทก์ที่ 1 จำนวน 5,741,261 บาท ของโจทก์ที่ 2 จำนวน 1,394,907 บาท และของโจทก์ที่ 3 จำนวน 2,969,707 บาท โดยผู้จะขายยินยอมให้ผู้จะซื้อนำหนี้ดังกล่าวหักในยอดของทรัพย์ที่จะซื้อขายได้ ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เจ้าหนี้บริษัทเอบี. วูด จำกัด ทั้ง 11 ราย ไปพบจำเลยที่ 2 และเจรจาเรื่องการชำระหนี้ตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าว มีเจ้าหนี้ 8 ราย ตกลงรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 ส่วนโจทก์ทั้งสามโดยโจทก์ที่ 1 ไม่ตกลงเพราะจำเลยที่ 2 จะแบ่งชำระหนี้ให้โจทก์ทั้งสามเป็นงวด แต่โจทก์ทั้งสามประสงค์จะได้รับชำระหนี้ทั้งหมดในครั้งเดียว วันที่ 8 พฤษภาคม 2557 บริษัทเอบี. วูด จำกัด โดยนายเจียมรัตน์จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมโรงงานให้แก่จำเลยที่ 1 วันที่ 9 ธันวาคม 2557 โจทก์ทั้งสามมีหนังสือขอถือเอาประโยชน์ตามบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขาย และขอให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ให้โจทก์แต่ละคนตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557

สำหรับมูลหนี้ระหว่างโจทก์ทั้งสามกับบริษัทเอบี. วูด จำกัด สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 บริษัทเอบี. วูด จำกัด โดยนายเจียมรัตน์ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์ทั้งสามว่า บริษัทเอบี. วูด จำกัด ยอมรับว่าเป็นหนี้จากการซื้อไม้ท่อนยางพาราจากโจทก์ทั้งสาม จำนวน 5,741,261 บาท 1,350,225 บาท และ 2,969,707 บาท ตามลำดับ และได้ออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาเวียงสระ สั่งจ่ายเงินเท่าจำนวนที่เป็นหนี้โจทก์แต่ละคน มอบให้โจทก์ทั้งสามไว้คนละฉบับ ต่อมาวันที่ 10 เมษายน

 

 

 

 

2557 โจทก์ทั้งสามกับบริษัทเอบี. วูด จำกัด ได้ทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญารับสภาพหนี้ว่าบริษัทเอบี. วูด จำกัด เป็นหนี้โจทก์ทั้งสามและตกลงเปลี่ยนเช็คฉบับใหม่ให้โจทก์ทั้งสามเป็นเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเวียงสระ ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 สั่งจ่ายเงินจำนวน 6,257,974.49 บาท (เป็นต้นเงิน 5,741,261 บาท ดอกเบี้ย 516,713.49 บาท) จำนวน 1,471,745.25 บาท (เป็นต้นเงิน 1,350,225 บาท ดอกเบี้ย 121,520.25 บาท) และจำนวน 3,236,980.63 บาท (เป็นต้นเงิน 2,969,707 บาท และดอกเบี้ย 267,273 บาท) ตามลำดับ ต่อมาเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเวียงสระ ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ทุกฉบับที่นายเจียมรัตน์สั่งจ่ายให้โจทก์ทั้งสามถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ทั้งสามร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่บริษัทเอบี. วูด จำกัด และนายเจียมรัตน์ในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 และพนักงานอัยการได้ฟ้องบริษัทเอบี. วูด จำกัด และนายเจียมรัตน์เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2557 จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2558
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า โจทก์ทั้งสามสละสิทธิไม่ขอรับชำระหนี้ตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายโรงงานฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 อันเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ จำเลยทั้งสามฎีกาว่า เมื่อโจทก์ทั้งสามไม่ยอมรับชำระหนี้เป็นงวด ๆ จากจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์ทั้งสามกลับไปเรียกร้องเอาหนี้ดังกล่าวจากบริษัทเอบี. วูด จำกัด และบริษัทดังกล่าวโดยนายเจียมรัตน์ได้ทำบันทึกต่อท้ายสัญญารับสภาพหนี้เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2557 ให้โจทก์ทั้งสามไว้ และได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเวียงสระ ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 แทนเช็คฉบับเก่าที่บริษัทเอบี. วูด จำกัด สั่งจ่ายให้โจทก์ทั้งสามไว้เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 โดยเช็คฉบับใหม่ได้รวมเงินต้นและดอกเบี้ยที่บริษัทเอบี. วูด จำกัด ต้องรับผิดให้แก่โจทก์ทั้งสามด้วย และต่อมาเมื่อเช็คฉบับลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ทั้งสามได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่บริษัทเอบี. วูด จำกัด และนายเจียมรัตน์ จนศาลพิพากษาปรับบริษัทเอบี. วูด จำกัด และจำคุกนายเจียมรัตน์ ทั้งโจทก์ทั้งสามแจ้งต่อนายเจียมรัตน์ว่าไม่ประสงค์จะรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้คืนเงินที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามให้นายเจียมรัตน์แล้ว ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ทั้งสามสละสิทธิไม่ขอรับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสามตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 แล้ว โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยทั้งสามจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสามมีนายเจียมรัตน์เบิกความว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ทั้งสามแล้วโจทก์ทั้งสามแจ้งแก่นายเจียมรัตน์ว่าไม่ประสงค์จะเรียกร้องหนี้จากจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ก็เป็นคำเบิกความลอย ๆ ของนายเจียมรัตน์โดยจำเลยทั้งสามไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง และที่จำเลยที่ 2 และนายเจียมรัตน์เบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินส่วนที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ทั้งสามคืนนายเจียมรัตน์แล้ว แต่จำเลยทั้งสามไม่มีหลักฐานการชำระหนี้มาแสดงนั้น ก็เห็นว่าเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของผู้ประกอบธุรกิจ เพราะจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าคืนให้นายเจียมรัตน์เท่ากับจำนวนที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามเป็นเงินจำนวนมากถึง 10,105,875 บาท หากมีการชำระคืนกันจริงตามที่จำเลยที่ 2 และนายเจียมรัตน์เบิกความ จำเลยที่ 2 และนายเจียมรัตน์ จะต้องมีหลักฐานมาแสดง คำเบิกความของจำเลยที่ 2 และนายเจียมรัตน์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามได้ตกลงกับบริษัทเอบี. วูด จำกัด โดยนายเจียมรัตน์ว่าไม่ประสงค์ที่จะรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่มีหลักฐานว่าได้จ่ายเงินจำนวน 10,105,875 บาท คืนให้นายเจียมรัตน์แล้วดังที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้าง ทั้งการที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้คืนเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามให้นายเจียมรัตน์นั้นยังเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิที่โจทก์ทั้งสามมีสิทธิรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก ซึ่งต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 1 กับบริษัทเอบี. วูด จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญากระทำตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 375 และแม้จำเลยที่ 1 กับบริษัทเอบี. วูด จำกัด จะทำบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขาย ให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสามแทนบริษัทเอบี. วูด จำกัด อันเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 แล้วก็ตาม แต่ฐานะเจ้าหนี้ลูกหนี้ระหว่างโจทก์ทั้งสามกับบริษัทเอบี. วูด จำกัด โดยนายเจียมรัตน์ก็ยังคงมีอยู่มิได้สิ้นสุดลงไปแต่อย่างใด ดังนั้น แม้หลังจากที่โจทก์ทั้งสามแสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 1 ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นตามมาตรา 374 แล้ว โจทก์ทั้งสามยังกลับไปเรียกร้องบริษัทเอบี. วูด จำกัด โดยนายเจียมรัตน์ให้ชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิมและนายเจียมรัตน์ได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเวียงสระ ให้โจทก์ทั้งสามไว้ ก็ไม่ได้ทำให้สิทธิที่โจทก์ทั้งสามเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามมาตรา 374 สิ้นสุดไปด้วย จึงต้องถือว่าโจทก์ทั้งสามยังมีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยทั้งสามตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายต่อไป คดียังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามสละสิทธิไม่ขอรับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสาม และการที่โจทก์ทั้งสามยังไม่ได้รับชำระหนี้มาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ดังกล่าวหาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามเพียงใด เห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขาย กำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามจำนวน 5,741,261 บาท 1,394,907 บาท และ 2,969,707 บาท ตามลำดับ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามตามจำนวนดังกล่าว แต่เมื่อสัญญาจะซื้อจะขาย ไม่ได้กำหนดวันจดทะเบียนโอนที่ดินและโรงงานให้แก่จำเลยที่ 1 จึงต้องแปลความว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสามนั้นถึงกำหนดชำระเมื่อมีการจดทะเบียนโอนที่ดินและโรงงานให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วนั่นเอง และเมื่อปรากฏว่าบริษัทเอบี. วูด จำกัด จดทะเบียนโอนที่ดินและโรงงานให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 ย่อมถือว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้โจทก์ทั้งสามถึงกำหนดในวันดังกล่าว หาใช่ถึงกำหนดนับแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2557 อันเป็นวันที่โจทก์ทั้งสามแสดงเจตนาให้จำเลยทั้งสามทราบแล้วว่าจะถือเอาประโยชน์ตามสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2557 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย โจทก์ทั้งสามคงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้นับแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2557 และเมื่อจำเลยทั้งสามไม่ชำระ จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 5,741,261 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 1,394,907 บาท และแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 2,969,707 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินของโจทก์แต่ละคน นับแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 


บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่