สัญญากู้ยืมเงินกับธนาคารที่ต้องผ่อนจ่ายเป็นงวดมีอายุความห้าปี

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกู้เงินธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) ตกลงผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยรายเดือนรวม 36 งวด เป็นการฟ้องขอให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ซึ่งมีข้อตกลงชำระหนี้ผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้ดังกล่าวจึงมีกำหนดอายุความห้าปีนับแต่วันผิดนัดชำระหนี้ จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555 ต้องถือว่าจำเลยผิดนัดชำระงวดที่เหลือทั้งหมด สิทธิเรียกร้องจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป และจะครบกำหนดห้าปีในวันที่ 16 ตุลาคม 2560 โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของธนาคารฯ เคยฟ้องจำเลยในมูลหนี้เดียวกันกับคดีนี้เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 ภายในกำหนดอายุความห้าปี แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้อง โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ฟ้องเข้ามาใหม่ภายในอายุความ และไม่มีคู่ความยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกากับฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงเป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น คือ วันที่ 31 ตุลาคม 2560 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคท้าย อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับแก่การฎีกาคดีผู้บริโภคโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 51 ประกอบ มาตรา 49 วรรคสอง เมื่อคดีถึงที่สุดในวันดังกล่าวอันเป็นวันหลังจากสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความแล้ว โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 จึงเป็นการฟ้องเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาในคดีก่อนถึงที่สุด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5300/2563

 

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 355,321.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 28 ต่อปี ของต้นเงิน 143,020.76 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับโจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับโจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกาศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความรับกันและไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2554 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินและรับเงินไปจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) 175,000 บาท ตกลงเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20.99 ต่อปี ผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนเป็นงวดรายเดือน เดือนละ 6,590 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 23 มกราคม 2555 และทุกวันที่ 23 ของเดือนถัดไปทุกเดือน กำหนดชำระให้ครบถ้วนภายใน 36 เดือน หากผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามที่กำหนดยินยอมเสียดอกเบี้ยอัตราสูงสุด ยอมชำระค่าปรับล่าช้าในอัตราที่กำหนด และไม่ตัดสิทธิธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) ที่จะเรียกร้องให้ชำระหนี้ทั้งหมดได้โดยพลัน หลังจากจำเลยรับเงินจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) จำเลยผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญา คิดถึงวันที่ 5 มีนาคม 2556 จำเลยคงค้างชำระต้นเงิน 143,020.76 บาท และดอกเบี้ย 16,459.87 บาท รวมเป็นเงิน 159,480.63 บาท ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2556 ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาบัตรเครดิตรวมทั้งภาระหนี้ของจำเลยในคดีนี้แก่โจทก์ จำเลยจึงต้องชำระหนี้ค้างชำระแก่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 28 ต่อปี ของต้นเงิน 143,020.76 บาท นับแต่วันที่ 6 มีนาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 195,840.48 บาท รวมเป็นเงิน 355,321.11 บาท ก่อนคดีนี้ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในมูลหนี้เดียวกันกับคดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ฟ้องคดีเข้ามาใหม่ภายในอายุความ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 วันที่ 31 ตุลาคม 2560 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยาย

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) โดยตกลงผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยรายเดือนรวม 36 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 23 มกราคม 2555 และชำระงวดถัดไปทุกวันที่ 23 ของทุกเดือน หากผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดใด ยินยอมให้ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) เรียกดอกเบี้ยอัตราสูงสุด ค่าปรับล่าช้า และมีสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ตามสัญญาทั้งหมดคืนได้ทันที อันเป็นการฟ้องขอให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ซึ่งมีข้อตกลงชำระหนี้ผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้ดังกล่าวจึงมีกำหนดอายุความห้าปีนับแต่วันผิดนัดชำระหนี้ การที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาโดยชำระหนี้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายวันที่ 15 ตุลาคม 2555 จึงต้องถือว่าจำเลยผิดนัดชำระงวดที่เหลือทั้งหมดตลอดมา สิทธิเรียกร้องในกรณีหนี้เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ ย่อมเกิดขึ้นนับแต่นั้น อายุความฟ้องเรียกเงินจำนวนที่ค้างย่อมต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) คือ เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป โจทก์ในฐานะผู้รับโอนต้องรับสิทธิเรียกร้องของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) โดยต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในอายุความ ซึ่งจะครบกำหนดห้าปีในวันที่ 16 ตุลาคม 2560 เมื่อก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์เคยฟ้องจำเลยในมูลหนี้เดียวกัน เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 ภายในกำหนดอายุความ 5 ปี ตามกฎหมาย แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ฟ้องเข้ามาเป็นคดีใหม่ภายในอายุความ และคู่ความไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกากับฎีกาคัดค้านคำพิพากษาดังกล่าว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีผู้บริโภค จึงเป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น คือ วันที่ 31 ตุลาคม 2560 ดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคท้าย อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับแก่การฎีกาคดีผู้บริโภคโดยอนุโลม ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 51 ประกอบมาตรา 49 วรรคสอง เมื่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีผู้บริโภค ในคดีก่อนที่พิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ฟ้องเข้ามาเป็นคดีใหม่ภายในอายุความ ถึงที่สุดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 อันเป็นเวลาภายหลังจากสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความแล้ว โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง การที่โจทก์เสนอคำฟ้องเป็นคดีนี้ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 จึงเป็นการฟ้องคดีเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีก่อนถึงที่สุด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่