คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4200/2559

ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การตายของ ล. และ น. จะนำหลักเกณฑ์ตามประกาศแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายซึ่งออกในปี 2532 และตามประกาศแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 ปี 2539 มาใช้ไม่ได้ เนื่องจากเป็นการวินิจฉัยการตายในทางการแพทย์ที่จะใช้ในการเปลี่ยนปลูกถ่ายอวัยวะ แต่คดีนี้จะต้องวินิจฉัยการตายตามความหมายในทางกฎหมาย คือ การไม่หายใจและหัวใจหยุดทำงาน นั้น เห็นว่า ป.อ. มาตรา 288 ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นมีองค์ประกอบความผิดประการหนึ่ง คือ ฆ่า คำว่า "ฆ่า" เป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า หมายถึงการกระทำด้วยประการใดๆ ให้คนตาย แต่ตาม ป.อ. มิได้กำหนดบทนิยามคำว่า "ตาย" ว่ามีความหมายอย่างไร และไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดนิยามความตายให้ชัดแจ้ง เมื่อตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 กำหนดให้แพทย์เป็นผู้ออกหนังสือรับรองการตาย ดังนั้น การวินิจฉัยการตายจึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องให้แพทย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้วินิจฉัย โดยที่งานของแพทย์มีลักษณะเป็นวิชาชีพ จึงเป็นงานที่ต้องมีกรอบขนบธรรมเนียมและจรรยาบรรณของหมู่คณะโดยเฉพาะ และเป็นการใช้ความรู้ในวิทยาการเฉพาะด้านที่ผู้อื่นไม่อาจรู้ได้ทั้งหมด อีกทั้งมีวิวัฒนาการด้านการรักษาและวิทยาการเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว การประกอบวิชาชีพเวชกรรมจึงมีกฎหมายควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพนี้เป็นพิเศษและมีการสอดส่องดูแลโดยบุคคลในวิชาชีพเดียวกันเพื่อให้การประกอบวิชาชีพเป็นไปโดยถูกต้องตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ขณะเกิดเหตุ วิทยาศาสตร์การแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะในผู้ป่วยที่มีปัญหาการสูญเสียหน้าที่การทำงานของอวัยวะหรือมีความล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ตับ ไต เป็นต้น มีความก้าวหน้าจนสามารถเอาอวัยวะจากผู้ที่ตายแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่นำไปปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่ผู้ป่วยได้ ในการนี้ได้มีประกาศแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตาย พ.ศ.2532 และประกาศแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2539 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการวินิจฉัยสมองตายมีสาระสำคัญว่า การวินิจฉัยคนตายโดยอาศัยเกณฑ์สมองตายนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องนำไปใช้โดยเฉพาะกับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะสำคัญของมนุษย์ และอาจนำไปใช้ในกรณีอื่นๆ ในอนาคตเพื่อความเจริญก้าวหน้าทางวิชาชีพและเพื่อประโยชน์ของประชาชน บุคคลซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าสมองตาย ถือว่า บุคคลนั้นถึงแก่ความตาย สมองตายหมายถึง การที่แกนสมองถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไป แพทย์เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยและตัดสินการตายของสมองตามเกณฑ์ของวิชาชีพ ดังนั้น เมื่อแพทย์ใช้วิธีการที่ได้รับการยอมรับในการสรุปว่าคนไข้นั้นถึงแก่ความตายแล้ว บุคคลผู้อยู่ในสภาวะสมองตาย คือ การที่แกนสมองถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการวินิจฉัยสมองตายที่คณะกรรมการแพทยสภากำหนดและออกเป็นประกาศแพทยสภาตามประกาศแพทยสภาดังกล่าว ย่อมถือได้ว่า เป็นการตายของบุคคล การที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 แพทย์ผู้ร่วมผ่าตัดเอาไต ทั้ง 2 ข้างและตับออกจากร่างกายของ ล. และจำเลยที่ 1 และที่ 2 แพทย์ผู้ร่วมผ่าตัดเอาไต ทั้ง 2 ข้าง ออกจากร่างกายของ น. ซึ่งอยู่ในสภาวะสมองตายตามประกาศแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตาย เพื่อนำเอาอวัยวะนั้นไปทำการปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่บุคคลอื่น จึงเป็นการกระทำต่อบุคคลที่ตายแล้วไม่มีสภาพเป็นบุคคลที่จะถูกฆ่าได้อีก ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4200/2559

 

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 268, 288 และริบเอกสารปลอมของกลาง

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นางหนูแดง และนายเจริญ มารดาและบิดาของนางสาวลัดดา ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยให้เรียกเป็นโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ริบเอกสารปลอมของกลาง คำขออื่นให้ยก

โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 2 ฎีกาโดยอัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาของโจทก์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น และผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า ฎีกาของโจทก์ร่วมที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 216 วรรคหนึ่งและมาตรา 225 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 216 วรรคหนึ่ง และมาตรา 225 วางหลักไว้ว่า ฎีกาทุกฉบับต้องมีข้อคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานดังกล่าว โจทก์ร่วมที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ร่วมที่ 2 ฎีกาโดยคัดลอกข้อความที่อุทธรณ์มาเป็นฎีกาทั้งสิ้นและศาลอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยในปัญหาเดียวกันไว้แล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมที่ 2 มิได้ยกเหตุผลคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้อง หรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ที่ถูกแล้วศาลอุทธรณ์ควรวินิจฉัยอย่างไรและด้วยเหตุผลใด ไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว จึงไม่อาจใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ได้ แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาและศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ร่วมที่ 2 มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นหรือไม่ เห็นว่า ข้อความในฎีกาของโจทก์ดังกล่าวเป็นไปในทำนองเดียวกับที่โจทก์กล่าวไว้ในอุทธรณ์อันเป็นการโต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แกนสมองของนางสาวลัดดา ถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไป บุคคลทั้งสองจึงอยู่ในสภาวะสมองตายตามประกาศแพทยสภาเรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายฉบับแรกและฉบับที่ 2 และมีเหตุผลในการวินิจฉัยโดยละเอียดว่า นางสาวลัดดาถูกรถชนมีอาการบาดเจ็บอย่างรุนแรง นายแพทย์นิสิต แพทย์ประสาทศัลยศาสตร์โรงพยาบาลวชิรปราการตรวจอาการของนางสาวลัดดา ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2540 เวลา 7 นาฬิกา พบว่านางสาวลัดดามีอาการสมองตาย พยานปากนี้ตรวจนางสาวลัดดาอีกครั้งในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ เวลา 22 นาฬิกา ขณะนั้นนางสาวลัดดามีอาการสมองตาย ต่อมาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2540 เวลา 7 นาฬิกา พยานตรวจและวินิจฉัยว่า นางสาวลัดดามีอาการสมองตายแล้ว พยานบันทึกการวินิจฉัยไว้ ซึ่งการตรวจวินิจฉัยมีระยะเวลาห่างกันประมาณ 9 ชั่วโมง นายแพทย์ศิริศักดิ์ ซึ่งมาทำงานนอกเวลาที่โรงพยาบาลวชิรปราการ และเป็นผู้ผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบของนางสาวลัดดาเพื่อส่งไปเปรียบเทียบกับเนื้อเยื่อของคนไข้ที่รอรับตามเวชระเบียน ได้ตรวจนางสาวลัดดาด้วยตนเองแล้วมีความเห็นว่าสมองตายแล้ว ก่อนทำการผ่าตัดนำอวัยวะของนางสาวลัดดาออกไป แพทย์หญิงสุวคนธ์ วิสัญญีแพทย์ ตรวจคนไข้แล้ว คนไข้ไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนอง และเมื่อปลดเครื่องช่วยหายใจออกจากท่อแล้วคนไข้ไม่หายใจเอง จึงประเมินสรุปว่านางสาวลัดดาสมองตายแล้ว ส่วนกรณีของนางนางซึ่งประสบอุบัติเหตุตกจากรถ สมองถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง นายแพทย์ชลิต ซึ่งเป็นเจ้าของไข้รายนี้ขณะที่รักษาอยู่โรงพยาบาลสมุทรปราการตรวจคนไข้แล้วพบว่า ผู้ป่วยรายนี้ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ และอยู่ในเครื่องช่วยหายใจเมื่อมีการย้ายคนไข้มาที่โรงพยาบาลวชิรปราการนายแพทย์นิสิต ตรวจคนไข้รายนี้แล้ววินิจฉัยว่าผู้ป่วยรายนี้สมองตายครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2540 เวลา 22 นาฬิกา และวินิจฉัยครั้งที่สองเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2540 เวลา 8 นาฬิกา เป็นเวลาห่างกัน 10 ชั่วโมง และทำบันทึกการตรวจวินิจฉัยสมองตายตามแบบพิมพ์ของแพทยสภา ตอนท้ายก่อนผ่าตัดนำอวัยวะของผู้ป่วยรายนี้ไป แพทย์หญิงสุวคนธ์ วิสัญญีแพทย์ ตรวจผู้ป่วยรายนี้พบว่า สมองตายแล้ว ไม่สามารถควบคุมอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย ไม่มีอาการตอบสนองต่อความเจ็บปวด และทดสอบโดยเอาเครื่องช่วยหายใจออก ผู้ป่วยรายนี้ก็ไม่หายใจ ข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าแกนสมองของผู้ป่วยทั้งสองคนถูกทำลายจนไม่สามารถทำงานต่อไปได้แล้ว ทำให้บุคคลทั้งสองไม่สามารถหายใจได้เองโดยปราศจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งเข้าตามหลักเกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายตามประกาศแพทยสภาแล้ว แม้ในการวินิจฉัยเรื่องแกนสมองตายดังกล่าวจะขาดตกบกพร่องไปบ้าง เช่นไม่ได้ใช้แบบพิมพ์ของแพทยสภา หรือการวินิจฉัยสมองตายกระทำโดยแพทย์ไม่ครบ 3 คน ก็เป็นเรื่องความบกพร่องในด้านการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่แพทยสภากำหนดไว้ ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ถูกลงโทษโดยแพทยสภาไปแล้ว เช่นนี้ แต่โจทก์มิได้โต้แย้งว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าววินิจฉัยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร และด้วยเหตุผลใด ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นฎีกาที่ไม่คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 216 วรรคหนึ่ง และมาตรา 225 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน

คงมีปัญหาวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 แพทย์ผู้ร่วมกันผ่าตัดเอาไตทั้ง 2 ข้าง และตับออกจากร่างกายของนางสาวลัดดา และจำเลยที่ 1 และที่ 2 แพทย์ผู้ร่วมกันผ่าตัดเอาไตทั้ง 2 ข้าง ออกจากร่างกายของนางนางซึ่งอยู่ในสภาวะสมองตายตามประกาศแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายเพื่อนำเอาอวัยวะนั้นไปทำการปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่บุคคลอื่นเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 บัญญัติว่า ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษ...ตามบทบัญญัติดังกล่าว ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นมีองค์ประกอบความผิดประการหนึ่ง คือ ฆ่า คำว่า "ฆ่า" เป็นข้อเท็จจริงซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไปว่าหมายถึงการกระทำด้วยประการใดๆ ให้คนตาย แต่ประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้กำหนดบทนิยามคำว่า "ตาย" ไว้ว่ามีความหมายอย่างไร และไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดนิยามความตายให้ชัดแจ้ง เมื่อตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 กำหนดให้แพทย์เป็นผู้ออกหนังสือรับรองการตาย ดังนั้น การวินิจฉัยการตายจึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องให้แพทย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้วินิจฉัย โดยที่งานของแพทย์นั้นมีลักษณะเป็นวิชาชีพ จึงเป็นงานที่ต้องมีกรอบขนบธรรมเนียมและจรรยาบรรณของหมู่คณะโดยเฉพาะ และเป็นการใช้ความรู้ในวิทยาการเฉพาะด้านที่ผู้อื่นไม่อาจรู้ได้ทั้งหมด อีกทั้งมีวิวัฒนาการในด้านการรักษาและวิทยาการเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว การประกอบวิชาชีพเวชกรรมจึงมีกฎหมายควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพนี้เป็นพิเศษและมีการสอดส่องดูแลโดยบุคคลในวิชาชีพเดียวกันเพื่อให้การประกอบวิชาชีพเป็นไปโดยถูกต้อง ตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 กำหนดให้แพทยสภาควบคุมการประกอบวิชาชีพเวชกรรมเพื่อให้การประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมถูกต้องตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม มีอำนาจหน้าที่รับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม รวมทั้งออกข้อบังคับว่าด้วยการกำหนดโรคหรือไม่เป็นโรคที่กำหนดไว้ในข้อบังคับแพทยสภา ขณะเกิดเหตุ วิทยาศาสตร์การแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะในผู้ป่วยที่มีปัญหาการสูญเสียหน้าที่การทำงานของอวัยวะหรือมีความล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ตับ ไต เป็นต้น มีความก้าวหน้าจนสามารถเอาอวัยวะจากผู้ที่ถึงแก่ความตายแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่นำไปปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่ผู้ป่วยได้ การปลูกถ่ายอวัยวะเป็นกระบวนการที่แพทย์ต้องกระทำการผ่าตัดร่างกายแล้วนำอวัยวะออกจากร่างกายบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งที่ป่วยและมีความต้องการที่จะรักษา ทำให้ผู้ที่ได้รับอวัยวะรอดชีวิต ในการนี้ได้มีประกาศแพทยสภาเรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตาย พ.ศ.2532 และประกาศแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2539 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการวินิจฉัยสมองตายมีสาระสำคัญว่า การวินิจฉัยคนตายโดยอาศัยเกณฑ์สมองตายนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องนำไปใช้โดยเฉพาะกับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะสำคัญของมนุษย์ และอาจนำไปใช้ในกรณีอื่นๆ ในอนาคตเพื่อความเจริญก้าวหน้าทางวิชาชีพและเพื่อประโยชน์ของประชาชน บุคคลซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าสมองตายถือว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย สมองตายหมายถึง การที่แกนสมองถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไป แพทย์เป็นผู้มีหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยและตัดสินการตายของสมองตามเกณฑ์ของวิชาชีพ ดังนั้น เมื่อแพทย์ได้ใช้วิธีการที่ได้รับการยอมรับในการสรุปว่าคนไข้นั้นถึงแก่ความตายแล้ว บุคคลผู้อยู่ในสภาวะสมองตาย คือ การที่แกนสมองถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการวินิจฉัยสมองตายที่คณะกรรมการแพทยสภากำหนดและออกเป็นประกาศแพทยสภาตามประกาศแพทยสภาดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าเป็นการตายของบุคคล การที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 แพทย์ผู้ร่วมกันผ่าตัดเอาไตทั้ง 2 ข้าง และตับออกจากร่างกายของนางสาวลัดดาและจำเลยที่ 1 และที่ 2 แพทย์ผู้ร่วมกันผ่าตัดเอาไตทั้ง 2 ข้าง ออกจากร่างกายของนางนางซึ่งอยู่ในสภาวะสมองตายตามประกาศแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตาย เพื่อนำเอาอวัยวะนั้นไปทำการปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่บุคคลอื่น จึงเป็นการกระทำต่อบุคคลที่ตายแล้วไม่มีสภาพเป็นบุคคลที่จะถูกฆ่าได้อีก ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันมาและพิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่