สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

เมื่อลูกหนี้ตายเจ้าหนี้จะฟ้องทายาทลูกหนี้รับผิดได้หรือไม่

การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว  ย่อมมีทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาท  และยังมีหนี้ที่เจ้ามรดกทิ้งไว้ในทายาทของเจ้ามรดกนั้น  จึงมีปัญหาตามมาว่า  เจ้าหนี้ของเจ้ามรดกจะฟ้องเรียกร้องให้แก่ทายาทของลูกหนี้รับผิดชอบชดใช้หนี้ให้แก่เจ้ามรดกเพียงได้ใด

วันนี้เราจะมาหาคำตอบจากบทความนี้กัน  ก่อนอื่นผมอยากให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจเสียก่อนว่า  ทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก  ไม่ได้มีแก่ทรัพย์สินเท่านั้น  แต่มีหนี้สินของเจ้ามรดก  รวมอยู่ด้วย  หนี้ของเจ้ามรดกนั้น  โดยเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1600  ต่อมามีข้อพิจารณาว่า  หนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ  เจ้าหนี้สามารถฟ้องทายาทได้หรือไม่  ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว  ได้คำตอบว่า  แม้จะไม่ถึงกำหนดชำระเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย   เจ้าหนี้ก็สามารถเรียกร้องเอาหนี้นั้นได้  ดังนั้น  จะเห็นได้ว่า  เจ้าหนี้สามารถฟ้องให้ทายาทรับผิดในหนี้ได้  โดยหนี้ของเจ้ามรดกนั้น  แม้ไม่ถึงกำหนดชำระเจ้าหนี้ก็สามารถฟ้องร้องเอากับทายาทเจ้ามรดกได้   

จากข้อกฎหมายดังกล่าวจึงนำไปสู่ปัญหาประการต่อไปว่า  แล้วทายาทจะต้องรับผิดชดใช้หนี้เพียงใด  ซึ่งมีคำตอบว่า  ทายาทผู้ที่ได้รับทรัพย์มรดกจากเจ้ามรดกหรือไม่ได้รับทรัพย์มรดกจากเจ้ามรดกก็มีสิทธิถูกฟ้องคดีจากเจ้าหนี้ให้รับผิดชอบหนี้มรดกได้  แต่หนี้นั้นจะผูกพันทายาทผู้นั้น  เพียงใดนั้น  ต้องพิจารณาว่า  ทายาทผู้นั้น  ได้รับทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกมาเพียงใด  หากว่าทายาทคนนั้นได้รับทรัพย์มรดกมาเพียง  100,000  บาท  แต่เจ้าหนี้ฟ้องร้องให้ทายาทรับผิดชอบ  3,000,000  บาท   ทายาทคนดังกล่าว  ก็คงรับผิดไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ได้รับ  คือ  จำนวน  100,000  บาท  นั้นเอง  ส่วนอีก  2,900,000  บาท  นั้น  เจ้าหนี้จะฟ้องไปสืบหาทรัพย์มรดกที่เหลือว่าใครได้ทรัพย์มรดกไปเพียงใด  หากปรากฏว่า  สืบหาไม่พบหรือไม่มีทรัพย์มรดกหลงเหลือแล้ว  เจ้าหนี้ย่อมขาดทุน  เมื่อท่านผู้อ่านทราบแล้วว่า  ทายาทจะต้องรับผิดเพียงเท่าที่ได้รับทรัพย์มรดกเท่านั้น  ดังนั้น  หากปรากฏว่า  ทายาทผู้นั้นไม่ได้รับทรัพย์มรดกจากเจ้ามรดกเลย  ทายาทผู้นั้นอาจถูกฟ้องคดีในฐานะทายาทของเจ้ามรดก  และต้องรับผิดชดใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น  ส่วนเจ้าหนี้จะมายึดทรัพย์สินของทายาทผู้นั้นโดยตรงไม่ได้  เพราะทายาทคนดังกล่าวไม่ได้รับทรัพย์มรดกจากเจ้ามรดกเลย  ทายาทคนดังกล่าวจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้แต่อย่างใด   ทั้งนี้  เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1601

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1600  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้

มาตรา 1601  ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน

คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1487/2551

ผู้ตายทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์ว่าจะนำเงินที่ได้จากโครงการออกก่อนเกษียณราชการชำระหนี้แก่โจทก์ 100,000 บาท หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน สำนักงานตำรวจแห่งชาติอนุมัติให้ผู้ตายลาออกจากราชการแล้ว ดังนั้นเมื่อผู้ตายได้รับอนุมัติให้ลาออกและมีสิทธิรับเงินตามโครงการออกก่อนเกษียณราชการย่อมถือว่าเงื่อนไขบังคับก่อนที่ผู้ตายต้องรับผิดชอบชำระเงินให้แก่โจทก์ได้สำเร็จเป็นผลให้โจทก์เกิดสิทธิที่จะได้เงินจากผู้ตายได้แล้ว ต่อมาผู้ตายถึงแก่ความตาย ความรับผิดของผู้ตายต่อโจทก์ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1600 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทย่อมต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้ตาย แต่ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จ แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน ให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท

จำเลยทั้งสี่ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ในข้อกฎหมายว่า การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลในวันที่ 13 สิงหาคม 2547 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ทางราชการได้โอนเงินเข้าบัญชีผู้ตายนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์เกิดขึ้นแล้วหรือไม่ อันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีอำนาจฟ้องแล้วหรือไม่ เห็นว่า ผู้ตายทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์ว่าจะชำระเงินให้โจทก์ 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าจะชำระเงินให้โจทก์เมื่อผู้ตายได้รับอนุมัติให้ลาออกจากราชการตามโครงการออกก่อนเกษียณราชการ โดยจะนำเงินที่ได้จากโครงการดังกล่าวให้แก่โจทก์ ปรากฏว่าผู้ตายได้รับคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติอนุมัติให้ลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 ผู้ตายย่อมมีสิทธิที่จะได้รับเงินจากการลาออกตามโครงการออกก่อนเกษียณราชการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 อันเป็นวันที่ได้รับอนุมัติให้ลาออกจากราชการซึ่งทางราชการต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้ตายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 เป็นต้นไป เมื่อผู้ตายได้รับอนุมัติให้ลาออกและมีสิทธิรับเงินตามโครงการออกก่อนเกษียณราชการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 ย่อมถือได้ว่าเงื่อนไขบังคับก่อนที่ผู้ตายต้องรับผิดชอบชำระเงิน 100,000 บาท ให้แก่โจทก์ได้สำเร็จแล้วเป็นผลให้โจทก์เกิดสิทธิที่จะได้เงินจากผู้ตายได้แล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2547 ผู้ตายถึงแก่ความตาย ความรับผิดของผู้ตายต่อโจทก์ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1600 จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทย่อมต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้ตาย แต่ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยทั้งสี่ทันทีตั้งแต่วันที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยทั้งสี่จึงมีขึ้นก่อนฟ้องคดีนี้แล้ว ทั้งได้ความว่าก่อนฟ้องคดีโจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้วแต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

 

ท่านสามารถอ่านบทความเกี่ยวข้องกับบทความนี้ได้จากลิงค์ข้างล่างนี้

-หากศาลตั้งผู้จัดการมรดกหลายคน คนใดตายจะต้องดำเนินการอย่างไร

-พินัยกรรมห้ามโอนทรัพย์มรดก

-สิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดก

-ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินเกินส่วนของตน

-ผู้เช่าซื้อหรือลูกหนี้ตายเจ้าหนี้ต้องฟ้องคดีภายใน1ปี