คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3486/2558

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบมาตรา 80 และ 83 โดยโจทก์บรรยายฟ้องข้อ (ค) ว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายโดยใช้ท่อนไม้และขวดขว้างใส่ผู้เสียหายทั้งสองโดยมีเจตนาทำร้าย จำเลยทั้งสองกับพวกลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเนื่องจากผู้เสียหายทั้งสองวิ่งหลบหนีได้ทัน ทำให้ท่อนไม้และขวดไม่ถูกร่างกายของผู้เสียหายทั้งสอง โจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นข้อเท็จจริงว่าหากจำเลยทั้งสองขว้างปาท่อนไม้และขวดถูกผู้เสียหายทั้งสอง ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้เสียหายทั้งสองได้อย่างแน่นอน อันเป็นองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวมาด้วย ทั้งโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นขนาดของขวดและไม้มาพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี ซึ่งหากขวดหรือท่อนไม้ขนาดไม่ใหญ่มากนักขว้างถูกผู้เสียหายทั้งสอง ไม่แน่นอนว่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจได้หรือไม่ ฟ้องโจทก์ข้อ (ค) ดังกล่าวนี้ จึงต้องแปลว่าเป็นการบรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองอาจไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้เสียหายทั้งสอง ตาม ป.อ. มาตรา 391 ประกอบมาตรา 80 และ 83 เท่านั้น เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองในข้อนี้เป็นการพยายามกระทำความผิด จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 105

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3486/2558

 

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 295, 371, 376, 80, 83, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และ 295 ประกอบมาตรา 80, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคสอง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 (ที่ถูกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และ 83 มาตรา 295 ประกอบมาตรา 80 และ 83 มาตรา 371 ประกอบมาตรา 83 มาตรา 376 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7 ประกอบมาตรา 72 วรรคสาม และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคสอง ประกอบมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 มีอายุยังไม่เกินยี่สิบปี ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานร่วมกันยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุและฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 ปี ฐานร่วมกันพยายามทำร้ายร่างกายผู้อื่น จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 เดือน ฐานร่วมกันมีอาวุธปืน จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี 18 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 ปี 15 เดือน ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ (คนละ) กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี 12 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี 18 เดือน

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 80 และ 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 อายุยังไม่เกินยี่สิบปีเห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 2 เดือน จำเลยที่ 2 จำคุก 3 เดือน ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ (คนละ) หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 1 เดือน 10 วัน จำเลยที่ 2 จำคุก 2 เดือน ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้รับโทษจำคุกมาก่อน ให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 โดยจำเลยที่ 1 ให้กักขัง 1 เดือน 10 วัน จำเลยที่ 2 ให้กักขัง 2 เดือน ความผิดฐานอื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ว่า เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2555 เวลา 19.30 นาฬิกา จำเลยทั้งสองกับพวกมีเรื่องวิวาทกับผู้เสียหายทั้งสองและพวก โดยจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันขว้างปาขวดและไม้ใส่ผู้เสียหายทั้งสองกับพวก แต่ผู้เสียหายทั้งสองหลบทัน จึงไม่ได้รับอันตรายแก่กาย เหตุเกิดที่หน้าบ้านพักของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสายหนองดุม - มะค่า ตำบลมะค่า อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา หลังเกิดเหตุผู้เสียหายทั้งสองได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรโนนไทยให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองกับพวกเป็นคดีนี้ โดยผู้เสียหายที่ 1 อ้างว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนคล้ายปากกายิงผู้เสียหายที่ 1 หนึ่งนัด ถูกที่บริเวณใต้รักแร้ขวา สำหรับความผิดฐานร่วมกันพยายามทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสองตามฟ้องข้อ (ค) นั้น โจทก์ไม่ฎีกา ส่วนจำเลยทั้งสองฎีกาเพียงข้อเดียว ขอให้รอการลงโทษแก่จำเลยทั้งสอง ซึ่งพอแปลได้ว่า จำเลยทั้งสองประสงค์ฎีกาขอไม่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขัง และรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานนี้เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานร่วมกันพยายามทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสองที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 80 และ 83 นั้น โจทก์บรรยายฟ้องข้อ (ค) โดยไม่ได้บรรยายให้เห็นข้อเท็จจริงว่า หากจำเลยทั้งสองขว้างปาท่อนไม้และขวดถูกผู้เสียหายทั้งสอง ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่า จะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้เสียหายทั้งสองได้อย่างแน่นอน อันเป็นองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวมาด้วย รวมทั้งฟ้องโจทก์มิได้บรรยายให้เห็นขนาดของขวดและไม้มาพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี ดังนั้น หากขวดหรือท่อนไม้ขนาดไม่ใหญ่มากนักขว้างถูกผู้เสียหายทั้งสองจึงไม่แน่นอนว่าจะเป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสองได้รับบาดเจ็บถึงขั้นเกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจได้หรือไม่ ฟ้องโจทก์ใน ข้อ (ค) นี้ จึงต้องแปลว่าเป็นการบรรยายฟ้องว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองอาจไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้เสียหายทั้งสอง ซึ่งเป็นเพียงความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ประกอบมาตรา 80 และ 83 เท่านั้น เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองในข้อนี้เป็นการพยายามกระทำความผิด จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 105 ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันพยายามทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 80 และ 83 มานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างและพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานนี้เสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง และ 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว จึงไม่จำต้องยกฎีกาของจำเลยทั้งสองขึ้นวินิจฉัยต่อไปว่า ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้เป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 หรือไม่อีก และชอบที่จะยกฎีกาของจำเลยทั้งสองเสีย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายตามฟ้องข้อ (ค) เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และให้ยกฎีกาของจำเลยทั้งสอง

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่